วันออกพรรษา ตรงกับ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดการจำพรรษาของภิกษุสงฆ์ ซึ่งการประจำอยู่ที่ใดที่หนึ่งของสงฆ์ถือว่ามีความหมายสำคัญของการเข้าพรรษาตลอดระยะเวลา 3 เดือน โดยภิกษุสงฆ์จะไม่สามารถเดินทางออกนอกสถานประจำพรรษาได้ จนกว่าจะครบกำหนดทางพระวินัยที่พระภิกษุ และสามเณรได้ภาวนาอธิษฐานอยู่จำพรรษาตลอดช่วงฤดูฝน ซึ่งก็คือ วันออกพรรษา หรือ วันปวารณา นั่นเอง 

ประวัติวันออกพรรษาโดยย่อ 

เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษาอยู่ที่พระเชตุวันมหาวิหาร ณ กรุงสาวัตถี พระภิกษุที่จำพรรษาที่ต่าง ๆ ได้เดินทางมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ซึ่งไม่พูดจากันอันเนื่องจากการทำ มูควัตร เพราะเกรงว่าจะมีความขัดแย้งกัน และเมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบก็ได้ทรงตำหนิ และทรงให้มีกระทำปวารณาต่อกัน โดยพระองค์ได้กล่าวว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้จำพรรษาแล้วปวารณากันในสามลักษณะ คือ ด้วยการเห็นก็ดี ด้วยการได้ยินก็ดี ด้วยการสงสัยก็ดี” 

นับตั้งแต่นั้นมา วันออกพรรษา จึงเสมือนเป็นวันปวารณา ที่อนุญาตให้ภิกษุทำการปวารณากรรมแทนอุโบสถกรรม คือ ภิกษุทั้งหลายสามารถว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ด้วยเมตตาจิตและเพื่อเป็นการสร้างความสามัคคีในหมู่สงฆ์  

เมื่อครั้งในสมัยพุทธกาล หลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ก็ได้ทรงเผยแผ่ธรรมเทศนาแก่สัตว์โลกไปทุกแคว้นเมืองในอินเดีย รวมไปถึงเมืองปิตุภูมิ พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมโปรดแก่บิดาและคณาญาติ และมีความประสงค์จะแสดงธรรมแก่มารดาที่ล่วงลับไปจุติในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พุทธองค์จึงได้ไปโปรดมารดาในเทวโลก และได้แสดงธรรมโปรดแก่เทวดาทั้งปวงเป็นเวลา 3 เดือน จนกระทั่งถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ได้ทรงเสด็จกลับสู่โลกมนุษย์ โดยมีคนมารอรับเสด็จมากมาย และในขณะนั้นโลกทั้ง 3 ภพ อันได้แก่ เทวโลก มนุษย์โลก และ ภูมินรก ได้เปิดเผยให้สามารถมองเห็นกันได้โดยไร้ภพปิดกั้น และคนที่มารอรับเสด็จพระพุทธเจ้าก็ได้ร่วมทำบุญใส่บาตร ซึ่งต่อมาเรียกว่า “ตักบาตรเทโวโรหณะ” และยึดถือเป็นประเพณีสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน 

Buddhist Lent Day

ความสำคัญวันออกพรรษาสามารถสรุปได้ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ 

  • พระสงฆ์ได้ทำการปวารณา สามารถว่ากล่าวตักเตือนด้วยความปรารถนาดี โดยไม่ต้องห่วงเรื่องของยศชั้นที่แตกต่าง เพื่อสร้างความสามัคคีของหมู่สงฆ์ 
  • พระสงฆ์ได้รับพระบรมพุทธานุญาตให้จากริกไปค้างแรมที่อื่นได้ 
  • หลังออกพรรษา พระสงฆ์สามารถนำความรู้ทางหลักธรรมที่ได้รับระหว่างเข้าพรรษา ไปเผยแผ่แก่พุทธศาสนิกชนได้ 
  • พุทธศาสนิกชนนำแบบอย่างการปวารณาของภิกษุสงฆ์ไปใช้ เพื่อเปิดโอกาสในการว่ากล่าวตักเตือน เปิดอกคุยกัน ทำความเข้าใจและเพิ่มสามัคคีต่อกัน 

การปฏิบัติตนในวันออกพรรษา 

1. การปวารณาหรือการกล่าวตักเตือนซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างความสามัคคีต่อหมู่คณะ 

2. รักษาศีล 5 หรือ ศีล 8 ศีลอุโบสถ รักษากาย วาจา ใจ ให้สะอาดครบถ้วน สวดมนต์ ไหว้พระ เจริญสมาธิ  

3. ตักบาตร ถวายผ้าป่า ถวายกฐิน ให้ทาน บริจาคทรัพย์หรือวัตถุปัจจัยแก่ผู้ยากไร้ 

4. มีการบรรยาย หรือฟังธรรมเทศนา เพื่อให้เข้าใจหลักธรรมอย่างถ่องแท้