เรามักจะได้ยินคำว่า อาบัติ บ่อย ๆ เมื่อมีพระทำผิด แต่ใครเคยสงสัยบ้างไหมว่า อาบัติคืออะไร พระทำอะไรแล้วอาบัติ อาบัติทุกกฏมีอะไรบ้าง และเมื่อพระอาบัติมีโทษอะไรบ้าง วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจอาบัติคืออะไรกันค่ะ 

อาบัติคืออะไร มีอะไรบ้าง 

อาบัติ หรือ อาปัตติ คือ การตกไป เป็นภาษาบาลี หมายถึงตกไปจากความดี ซึ่งเป็นข้อกล่าวโทษที่เกิดจากการละเมิดในข้อพระวินัยบัญญัติ ซึ่งเป็นข้อห้ามสำหรับภิกษุ ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสห้ามไว้ หรือให้เข้าใจง่าย ๆ คือ ทำผิดศีล (ศีลสำหรับภิกษุ) หรือ ศีลขาด 

อาบัติ 7 อย่าง และความหมายของอาบัติ 

  1. อาบัติปาราชิก คือ ผู้พ่ายแพ้ ขาดจากความเป็นภิกษุ 
  2. อาบัติสังฆาทิเสส คือ ต้องอาศัยสงฆ์ในการออกจากอาบัติ 
  3. อาบัติถุลลัจจัย คือ อาบัติที่เกิดจากการกระทำหยาบคาย
  4. อาบัติปาจิตตีย์ คือ อาบัติที่ที่ให้ความดีงามตกไป
  5. อาบัติปาฏิเทสนียะ คือ อาบัติที่ต้องแสดงคืน 
  6. อาบัติทุกกฏ คือ อาบัติที่เกิดจากการกระทำที่ไม่เหมาะสม ไม่สมควร 
  7. อาบัติทุพภาสิต คือ อาบัติที่เกิดจากการพูดไม่ดี ไม่เหมาะสม เช่น คำด่า ล้อเลียน เกี้ยวหญิง 

อาบัติมีโทษกี่สถาน อะไรบ้าง 

โทษของอาบัติ มี 2 สถานด้วยกัน ได้แก่ 

1. อเตกิจฉา คือ อาบัติหนัก  มีอะไรบ้าง 

  • อาบัติปาราชิก คือ อาบัติที่แก้ไม่ได้ เมื่อล่วงละเมิดแล้ว ผู้ล่วงละเมิดขาดจากความเป็นภิกษุ แก้ไขอะไรไม่ได้ 
  • อาบัติสังฆาทิเสส คือ อาบัติอย่างหนักที่แก้ไขได้ ด้วยการให้ภิกษุที่อาบัติต้องอยู่กรรม โดยปริวาส หรือ มานัต ประพฤติกิจวัตรอย่างหนึ่งเพื่อทรมานตน 

2. สเตกิจฉา คือ อาบัติที่แก้ไขได้ด้วยการปลงอาบัติ ประจานตนต่อหน้าภิกษุด้วยกัน เป็น อาบัติเบา มีอะไรบ้าง 

  • ถุลลจัย 
  • ปาจิตตีย์ 
  • ปาฏิเทสนียะ 
  • ทุกกฏ 
  • ทุพภาสิต 

โทษการล่วงละเมิดสิกขาบทสามารถจำแนกเป็น 3 ระดับด้วยกัน ได้แก่ 

1. โทษสถานหนัก ได้แก่ อาบัติปาราชิก เป็นครุโทษ หรือ มหันตโทษ จัดเป็นครุกาบัติทำให้ภิกษุผู้ล่วงละเมิดขาดจากการเป็นภิกษุ 

2. โทษสถานกลาง ได้แก่ อาบัติสังฆาทิเสส เป็นมัชณิมโทษ จัดเป็นครุกาบัติทำให้ภิกษุผู้ล่วงละเมิดต้องอยู่กรรมก่อนจึงจะพ้นโทษ 

3. โทษสถานเบา จัดเป็น ลหุกาบัติ ได้แก่ ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ และ ทุพภาสิต 

อาการที่ภิกษุจะต้องอาบัติมีอะไรบ้าง 

การล่วงละเมิดพระวินัยบัญญัติของภิกษุเกิดขึ้นด้วยอาการต่าง ๆ เป็นอาการที่ภิกษุต้องอาบัติ 6 อย่าง ด้วยกัน ได้แก่ 

1. อลัชชิตา คือ ต้องด้วยไม่ละอาย 

อาการที่ภิกษุอยู่ว่าสิ่งนั้นไม่ควรทำ เป็นข้อพระวินัยบัญญัติห้ามไว้ แต่ยังคงทำอย่างไม่สนใจ เช่น ดื่มสุรา ทำร้ายสัตว์ ไม่สำรวมกิริยา เป็นต้น 

2. อญาณตา คือ ต้องด้วยความไม่รู้ 

อาการที่ภิกษุไม่รู้ ซึ่งอาจยังเป็นภิกษุบวชใหม่ที่ยังศึกษาข้อวินัยไม่ครบหรือไม่กระจ่าง หรือภิกษุบวชมานานแล้วแต่ไม่สนใจใฝ่ศึกษาข้อพระวินัยบัญญัติ แล้วล่วงละเมิดสิกขาบทนั้น ๆ ด้วยความไม่รู้ 

3. กุกกุจจปกตัตตา คือ ต้องด้วยสงสัยแล้วขืนทำลงไป  

อาการที่ภิกษุเกิดความสงสัยว่าในสิ่งนั้นเข้าข่ายผิดวินัยสงฆ์หรือไม่ แม้เกิดความสงสัยแล้ว แต่ก็ยังทำลงไป แม้ว่าความสงสัยนั้นไม่ได้คำตอบที่แท้จริง หากเป็นทำที่มีพระวินัยห้ามไว้ก็ต้องอาบัติตามวัตถุ แต่ถ้าไม่มี ก็ต้องอาบัติทุกกฏ เพราะสงสัยแล้วยังขึนทำต่อไป เช่น ภิกษุสงสัยแกงเนื้อที่มีคนนำมาถวายว่าเป็นเนื้อต้องห้ามหรือไม่ (เนื้อม้า เนื้อช้าง เนื้อมนุษย์ ฯลฯ) แต่ก็ยังฉันเนื้อในแกงนั้นต่อไป  เป็นต้น 

4. อกัปปิเย กัปปิยสัญิตา คือ ต้องด้วยสำคัญว่าควรในของที่ไม่ควร 

อาการที่ภิกษุมีความสำคัญผิดไป เช่น เห็นเนื้อช้่างซึ่งเป็นเนื้อต้องห้ามตามพระวินัย แต่เข้าใจว่าเป็นเนื้อหมู จึงขบฉันเข้าไปตามความเข้าใจนั้น แม้ว่าไม่ตั้งใจ แต่ก็ต้องอาบัติ เพราะเป็นเนื้อต้องห้าม เป็นต้น 

5. กัปปิเย อกัปปิยสัญิตา คือ ต้องด้วยสำคัญว่าไม่ควรในของที่ไม่ควร 

อาการที่ภิกษุมีความสำคัญผิดไป เช่น เห็นเนื้อหมูซึ่งไม่ได้เป็นของต้องห้ามตามพระวินัย แต่เข้าใจว่าเป็นเนื้อหมีที่เนื้อต้องห้าม แล้วขบฉันเนื้อหมูนั้น ก็ต้องอาบัติทุกกฏ เพราะขบฉันด้วยสำคัญว่าเป็นเนื้อต้องห้าม เป็นต้น 

6. สติสัมโมสา คือ ต้องด้วยการลืมสติ  

อาการภิกษุลืมสติแล้วล่วงละเมิดสิกขาบทนั้น ๆ ด้วยหลงหรือเผลอไป เช่น ในพระวินัยอนุญาตให้ภิกษุเก็บน้ำผึ้งไว้ฉันได้เพียง 7 วัน แต่ภิกษุลืมจำนวนวันที่เก็บ ทำให้เกิน 7 วัน แล้วนำมาฉันด้วยความไม่รู้นั้น เป็นต้น 

พระภิกษุต้องอาบัติแล้วต้องทำอย่างไร 

วิธีปฏิบัติเมื่อต้องอาบัติของภิกษุ จะมีความเกี่ยวข้องกับบุคคล 3 ฝ่ายด้วยกัน ได้แก่ 

  1. ภิกษุผู้ต้องอาบัติ : ยอมรับข้อผิดพลาดด้วยความละอายใจและมีสติ แล้วประพฤติตามข้อกำหนดในพระวินัย เช่น อยู่กรรม ปลงอาบัติ ก็จะสามารถบริสุทธิ์ได้เหมือนเดิม แล้วสำรวมไม่ให้อาบัติซ้ำ

  1. ภิกษุผู้รู้เห็น : ภิกษุใดที่เห็นภิกษุด้วยกันประพฤติปฏิบัติผิดวินัยหรือไม่เหมาะสม ควรกล่าวตักเตือนด้วยความเมตตา เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายบานปลายต่อตัวภิกษุและหมู่คณะ ไม่ควรปล่อยวางเฉยเพราะคิดว่าไม่ใช่ธุระ หรือต่อว่ากล่าวขานเพื่อประจานให้ภิกษุผู้ต้องอาบัติได้อับอายด้วยความสะใจของตนเท่านั้น 

  1. สงฆ์ : สงฆ์คือหมู่คณะที่ปกครองดูแลกันเป็นระบบ มีผู้นำ มีเจ้าคณะผู้ปกครอง โดยสงฆ์ผู้ปกครองทุกระดับชั้น จะต้องใส่ใจและปกครองหมู่สงฆ์ในคณะให้มีความประพฤติอยู่ในกฏพระวินัย เมื่อภิกษุประพฤติผิดจำต้องแก้ไขหรือลงโทษตามพระธรรมวินัยอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อคงไว้ซึ่งความเรียบร้อยในคณะและเป็นศรีสง่า เป็นที่ศรัทธาต่อพุทธศาสนิกชน ช่วยดำรงรักษาพระศาสนาสืบไป