สัตว์เลี้ยงกับมนุษย์มีมานานตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยแรกเริ่มเดิมที มนุษย์เลี้ยงสัตว์เพื่อไว้ใช้งาน เลี้ยงสัตว์ไว้ใช้เป็นอาหาร แต่เมื่อเวลาผ่านไป จากสัตว์เลี้ยงใช้งาน เริ่มมีบทบาทและได้รับความนิยมมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากที่สัตว์เลี้ยงสามารถอยู่เป็นเพื่อน ให้ความเพลิดเพลิน ช่วยเยียวยาจิตใจ และมีส่วนช่วยในการบำบัดโรคได้ (Pet Therapy) เนื่องจากการที่ผู้ป่วยได้สัมผัสสัตว์เลี้ยง หรือได้มีความใกล้ชิด ได้เห็นอากัปกิริยาต่าง ๆ ความน่ารัก และอาการซุกซนของเหล่าสัตว์เลี้ยง สามารถสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้กับผู้ป่วยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านสภาพจิตใจ 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สุนัข แมว กระต่าย เต่า และอื่น ๆ สามารถนำโรคมาสู่คนได้ โดยเฉพาะโรคติดเชื้อต่าง ๆ ซึ่งสัตว์เหล่านั้นอาจเป็นรังโรคของเชื้อโรคหลายชนิด โดยตัวสัตว์เองไม่ได้เกิดอาการเจ็บป่วย แต่สามารถทำให้คนที่ได้รับเชื้อ เกิดเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงได้ โรคติดเชื้อที่พบได้บ่อยจากสัตว์เลี้ยงมีอะไรบ้าง เราจะมากล่าวถึงกันในบทความนี้ จะได้รู้เท่าทันและป้องกันตนแต่เนิ่น ๆ 

โรคพิษสุนัขบ้า 

โรคติดเชื้อร้ายแรงมาก เพราะถ้าใครติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า มีโอกาสเสียชีวิตเกือบ 100% โดยโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส rabies พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น คน สุนัข แมว กระต่าย ค้างคาว เป็นต้น สามารถติดเชื้อจากการโดนถูกสัตว์มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัด หรือเลียบริเวณแผลหรือเยื่อเมือก ผู้ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ามีอาการกลืนไม่ได้ มีน้ำลายมาก กระสับกระส่าย กลัวแสง ก้าวร้าว จากนั้นจะซึมลง และเสียชีวิตในที่สุดหากรักษาอาการไม่ทัน 

การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า : พาสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง 

กรณีถูกสัตว์กัดหรือข่วน : รีบล้างแผลด้วยสบู่อย่างน้อย 15 นาที แล้วรีบไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าและรับอิมมูนโกลบูลิน และคอยสังเกตอาการสุนัขหรือแมวที่กัด หากภายใน 10 วันสัตว์ที่กัดเสียชีวิต ให้รีบติดต่อสถานเสาวภา เพื่อนำสัตว์นั้นไปตรวจว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่ 

โรคท้องเสีย

โรคท้องเสียเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่มีโรคท้องเสียที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดที่ติดต่อได้จากสุนัขหรือแมวมาสู่คนได้เช่นกัน โดยเชื้อแบคทีเรียที่พบได้บ่อย เช่น เชื้อ Campylobacter หรือเชื้อ Salmonella เป็นต้น โดยการติดเชื้อนี้เกิดจากการที่คนไปสัมผัสมูลสัตว์แล้วไม่ได้ล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบอาหารเข้าปาก และเมื่อได้รับเชื้อทำให้มีอาการปวดท้อง ถ่ายเหลว มีไข้ และอาจถ่ายเป็นมูกเลือดได้ หากผู้ได้รับเชื้อมีภูมิคุ้มกันปกติเพียงแค่รักษาอาการด้วยการดื่มน้ำและเกลือแร่ให้เพียงพอ ก็สามารถหายได้เองเพียงในระยะเวลาไม่นาน แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือร่างกายอ่อนแอในช่วงได้รับเชื้อ หรือกรณีเป็นเด็กเล็ก อาจมีอาการโรคท้องเสียรุนแรงได้ มีการติดเชื้อในกระแสเลือด และอาจลุกลามไปยังอวัยวะส่วนต่าง ๆ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ติดเชื้อในข้อหรือกระดูก ซึ่งเกิดจากเชื้อ Salmonella 

โรคฉี่หนู (Leptospirosis) 

โรคจากเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Leptospira (เลปโตสปรา) ซึ่งเกิดจากการสัมผัสฉี่หนูโดยตรง หรือจากการแช่น้ำที่มีการปนเปื้อนฉี่หนู ไม่ว่าจะเป็นบริเวณน้ำขัง น้ำท่วม น้ำคลอง ห้วย หรือบึง ก็ตาม นอกจากนี้ยังพบเชื้อเลปโตสปราในฉี่สุนัขเช่นกัน สำหรับอาการโรคฉี่หนู ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ตาแดง ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีภาวะตับอักเสบ ไตวาย และไอเป็นเลือดได้ 

ติดเชื้อพยาธิ 

เชื้อพยาธิสุนัข หรือเชื้อพยาธิแมว สามารถติดสู่คนได้จากไข่พยาธิปนเปื้อนในมูลสัตว์เหล่านี้ แล้วคนได้รับเชื้อจากการกินอาหารที่ปนเปื้อนไข่พยาธิเข้าไป 

อาการจากติดเชื้อพยาธิ์สัตว์ : มีอาการคันจากการที่พยาธิไขไปตามผิวหนัง หรือตามอวัยวะอื่น ๆ หากพยาธิเดินทางไปตามระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีอาการหอบและไอ หรือถ้าพยาธิเดินทางไปที่ตา ก็ทำให้การมองเห็นผิดปกติได้ เป็นต้น 

การป้องกันการติดเชื้อพยาธิ : ล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสสัตว์เลี้ยงและก่อนหยิบจับอาหารเข้าปาก ทำความสะอาดพื้นที่และบริเวณที่สัตว์เลี้ยงอาศัยสม่ำเสมอ หมั่นหยอดยากำจัดพยาธิให้สัตว์เลี้ยงตามระยะเวลาที่เหมาะสม 

โรคเชื้อราและกลาก 

คนเลี้ยงสัตว์มักพบเจอโรคเชื้อราในสัตว์ได้บ่อย เพราะเป็นโรคติดต่อง่าย โดยจะเชื้อรามักจะติดเชื้อที่ผิวหนังและขนสัตว์เลี้ยง และหลายคนก็มักจะสัมผัสกับผิวหนังของสัตว์เลี้ยงที่เป็นเชื้อรา ไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว หรือกระต่าย เพราะคิดว่าคงไม่ติดสู่คน แต่ที่จริงแล้ว คนเราสามารถติดเชื้อราในสัตว์ได้จากการสัมผัสโดยตรง และจะมีอาการคัน ลักษณะเป็นวงแดง ๆ หรือรอยปื้นคล้ายกลากทั่วไป ส่วนการรักษาก็เหมือนกับการรักษาเชื้อรา กลาก เกลื้อน ปกติ 

การป้องกันโรคเชื้อราจากสัตว์ : ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงที่เป็นเชื้อรา 

โรคทอกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis)

โรคทอกโซพลาสโมซิส เกิดจากเชื้อปรสิต Toxoplasma ซึ่งจะพบได้ในอุจจาระแมว โดยคนติดเชื้อจากการไปสัมผัสมูลแมวแล้วไม่ล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบอาหารเข้าสู่ปาก หรือทานผักจากดินที่เชื้อโรคในอุจจาระแมวปนเปื้อน 

อาการโรคทอกโซพลาสโมซิส : สำหรับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติอาจมีอาการไข้ ต่อมน้ำเหลืองโตแล้วหายได้เอง หรือไม่มีอาการของโรคเลย แต่สำหรับผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำอาจเกิดอาการปอดอักเสบ หรือติดเชื้อในสมองจนอทำให้แขนขาอ่อนแรงได้ ส่วนหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อทอกโซพลาสโมซิสจะมีผลต่อเด็กในท้องได้รับเชื้อไปด้วย และเสี่ยงต่อความผิดปกติได้ เช่น ทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด มีการอักเสบของจอประสาทตา ศีรษะเล็ก มีตับหรือม้ามโต หรือ ทารกบางคนอาจไม่แสดงอาการตอนแรกเกิด แต่จะมีอาการเมื่อเจริญวัยขึ้น เช่น ตาบอด มักมีอาการชักบ่อยครั้ง มีพัฒนาช้า และร้ายแรงกว่านั้นคือหรืออาจทำให้แท้งได้ โดยเฉพาะในช่วงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก 

การป้องกันโรคทอกโซพลาสโมซิส : ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนหยิบอาหารเข้าปาก ล้างผักให้สะอาดหรือรับประทานผักปรุงสุก และหญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสอุจจาระแมว 

โรคซิตาโคซิส (Psittacosis)

โรคจากเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Chlamydia Psittaci (คลามัยเดีย) เป็นโรคติดต่อจากนก ซึ่งจะพบเชื้อในมูลนก ตามขนนก แล้วคนสูดหายใจเอาเชื้อเข้าไป ทำให้ติดเชื้อโรค Psittacosis 

อาการโรคซิตาโคซิส : ผู้ป่วยมีไข้สูง ไอ้แห้ง ๆ ปวดเมื่อยเนื้อตัว เจ็บหน้าอก และอาจมีอาการปอดอักเสบร่วมด้วย เป็นต้น 

สรุป 

โรคติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่เกิดจาการที่เรามีการสัมผัสสัตว์เลี้ยงที่มีเชื้อโดยตรง โดยรับเชื้อผ่านทางเยื่อเมือกหรือบาดแผล และจากการสัมผัสมูลของสัตว์ ดังนั้นการป้องกันโรคติดต่อจากสัตว์ที่ดีควรให้สัตว์เลี้ยงได้รับวัคซีน และได้รับการตรวจจากสัตวแพทย์สม่ำเสมอ และหากสัตว์เลี้ยงมีอาการผิดปกติ เช่น แมวมีอาการไข้ สุนัขมีอาการซึมผิดปกติ ควรรีบพาพบสัตวแพทย์ รวมถึงผู้เลี้ยงและคนใกล้ชิดสัตว์เหล่านี้ควรทำความล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสสัตว์และก่อนรับประทานอาหาร หมั่นทำความสะอาดบริเวณที่สัตว์เลี้ยงอาศัย และถ้าหากโดนสัตว์กัดจนมีแผลหรือเลือดออก ควรไปพบแพทย์ทันที