ใครที่เป็นแฟนละครไทยพีเรียด คงเคยได้ยินศักดินาเกี่ยวกับเมียชายไทยโบราณมาบ้าง ยิ่งช่วงนี้ ละครไทยฮอตฮิต หนีไม่พ้น พรหมลิขิต ซึ่งได้มีการกล่าวถึง เมียพระราชทาน หลายคนอาจไม่เคยได้ยิน หรือได้ยินมาก่อนแต่งงว่า เมียพระราชทานคืออะไร เมียพระราชทานเป็นใครมาจากไหน แล้วทำไมต้องพระราชทานเมียให้ ชายไทยยุคนั้นหาเมียเองไม่ได้หรือไร ไหน ๆ ก็จ่อหัวมาแล้ว แน่นอนว่า เราจะมาเจาะลึกถึงที่มาและความหมายของ เมียพระราชทาน รับรองว่าเมื่อได้ทำความเข้าใจแล้ว นอกจากจะได้ความรู้ ยังช่วยเพิ่มอรรถรสในการรับชมละครไทยโบราณอีกหลายเรื่องเจ้าค่ะ
หากย้อนกลับตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยา มีบัญญัติลำดับเมียของชายไทยไว้ในกฏหมายตราสามดวงไว้ด้วยกันถึง 5 ประเภทด้วยกัน ซึ่งมีดังต่อไปนี้
เมียสมัยโบราณ มี 5 ประเภท
- เมียพระราชทาน คือ เมียกลางเมือง หรือ ภรรยากลางเมือง หมายถึง เมียที่ขุนหลวงพระราชทานให้
- เมียขอพระราชทาน คือ เมียหลวง ที่ขอให้ขุนหลวงพระราชทาน
- เมียกลางบ้าน หรือ ภรรยากลางบ้าน หมายถึง เมียหลวงที่พ่อแม่สู่ขอให้ตามประเพณี
- เมียกลางนอก หรือ ภรรยากลางนอก คือ อนุภรรยา หรือ เมียน้อย มีศักดิ์ลดหลั่นลงมาจากเมียหลวง โดยสมัยนั้น ผู้ชายจะมีเมียน้อยกี่คนก็ได้
- เมียกลางทาสี หรือ ภรรยากลางทาสี คือ เมียทาส เมียที่มาจากการเป็นบ่าว ไม่มีสิทธิ์เท่าเทียมกับเมียอื่น ๆ ทำหน้าที่เป็นเหมือนบ่าวทั่วไป แต่จะสบายกว่าทาสคนอื่น ๆ เล็กน้อย
โดยแต่เดิม จุดประสงค์หลักของ เมียพระราชทาน เป็นนโยบายใช้ผู้หญิงเป็นสะพานเชื่อมความมั่นคงทางการเมือง เจริญสัมพันธไมตรี และสร้างความจงรักภักดีของเหล่าขุนนาง ที่มีต่อกษัตริย์ จนมีคำว่า “ใครซื่อ .. เจ้าเติมนาง” หมายถึง ผู้ใดทำความชอบ มีความจงรักภักดี จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระเจ้าแผ่นดิน กษัตริย์จะบำเหน็จรางวัลให้ด้วยเครื่องอิสรยศ ของบำนาญ หรือพระราชทานผู้หญิงให้ และหญิงนั้นได้ชื่อว่า “นางพระราชทาน” หรือ เมียนาง ซึ่งเป็นธรรมเนียมนิยมในราชสำนัก ตั้งแต่บุพกษัตริย์สมบุรณาญาสิทธิราชย์ คือ ระบอบการปกครองที่มีกษัตริย์เป็นผู้ปกครอง และมีสิทธิ์ขาดในการบริหารประเทศทั้งหมด
โดยในกฏหมายตรา 3 ดวงก็ได้มีการกล่าวถึงเรื่องเมียพระราชทานไว้ว่า “ผู้ใดชนช้างมีชัย แลข้าศึกฆ่าหัวช้าง บำเหน็จได้พานทอง ร่มคันทอง คานหามทอง แลเมียนาง” โดยธรรมเนียมนี้มีปรากฏในวรรณคดีหลายเล่มด้วยกัน ตั้งแต่วรรณคดีที่แต่งด้วยบทกลอนชิ้นแรกของไทยเรื่อง ลิลิตโองการแช่งน้ำ โดยในเนื้อหากล่าวถึงพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา หรือที่โบราณเรียกว่า พิธีศรีสัจจปานกาล ซึ่งเป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อให้พระบรมศานุวงศ์และข้าราชบริพารดื่มน้ำสาบาน ว่าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และในตอนท้ายได้มีการกล่าวว่า “ใครซื่อ..เจ้าเติมนาง”
โดยหญิงที่กษัตริย์จะนำมาพระราชทานให้นั้น จะต้องเป็นหญิงสูงศักดิ์ ซึ่งอาจเป็นลูกหลานของคหบดี ข้าราชการยศสูง ที่ถูกนำมาถวายตัวให้เป็นนางข้าหลวงรับใช้ในวัง ตามตำหนักต่าง ๆ เช่น นางรับใช้ของมเหสี เจ้าจอม พระองค์หญิง หรือแม้แต่พระสนม และผู้ใหญ่ในราชวัง โดยจะถูกส่งตัวเข้าไปรับใช้และฝึกฝนด้านต่าง ๆ ทั้งในเรื่องของการปรุงอาหารคาว – หวาน การเย็บปักถักร้อย งานฝืมือ ขับร้อง ฟ้อนรำ และองค์ความรู้ต่าง ๆ ครบเครื่องมาตรฐานของหญิงชาววัง ซึ่งจำกัดเฉพาะหญิงสูงศักดิ์เท่านั้น เพราะนางข้าหลวงมีโอกาสที่จะได้เลื่อนยศเป็นเจ้าจอม หากเป็นที่ถูกอกถูกใจของกษัตริย์ หรือไม่อย่างนั้น ก็ย่อมเป็นที่หมายปองของชายที่มียศ ฐานะ หรือเป็นข้าราชการยศสูง ๆ ที่ได้ทำงานรับใช้ ใกล้ชิดในวัง มาสู่ขอ นับว่ามีแต่ได้ดองกับคนใหญ่คนโต ทำให้เหล่าคณหบดีและขุนนางล้วนแต่ส่งธิดาถวายตัวเข้าวัง กล่าวได้ว่า เมียพระราชทานจากขุนหลวง มาจากหญิงสูงศักดิ์ มีชาติ มีตระกูล และมีศักดินาสูงกว่าเมียใด ๆ เพราะเป็นเมียที่เจ้าทรงประทานให้ ถือเป็นหน้าเป็นตาแก่ผู้เป็นสามี
นอกจากนี้ ตามหลักประเพณีกษัตริย์ไทย ไม่นิยมพระราชทานมเหสี เจ้าจอม หรือแม้แต่สนมให้แก่ใคร เพราะถือว่าเป็นของส่วนพระองค์ หากใครไปใช้ร่วมจะเป็นเสนียดจัญไร ดังนั้น เมียพระราชทานที่ขุนหลวงจักยกเป็นรางวัล คือ เหล่านางข้าหลวง นางกำนัลรับใช้ในวังเท่านั้น
เมียพระราชทาน ถือศักดิ์ใหญ่กว่าผู้เป็นสามี มิใช่รางวัลบำเรอกามจากกษัตริย์ ซึ่งมีหลักฐานจากข้อกฏหมาย ที่กษัตริย์ได้ตรากำหนดไว้เพื่อรับรองสถานภาพ และปกป้องเมียนาง หรือเมียพระราชทานไว้อย่างเคร่งครัด หากผู้ใดไม่ทำตาม ถือว่ามีความผิด
สิทธิและฐานะของการเป็นภรรยา ที่มีการตราขึ้นในสมัยพระเจ้าอู่ทอง ได้แบ่งภรรยาไว้ 3 ประเภท มีดังนี้
- เมียกลางเมือง หมายถึง เมียหลวง ได้แก่ หญิงที่บิดามารดาไปสู่ขอตามประเพณี
- เมียกลางนอก หมายถึง เมียน้อย ได้แก่ ชายขอหญิงมาเป็นอนุภรรยา รองลงมาจากเมียหลวง
- เมียกลางทาสี หมายถึง เมียทาส ได้แก่ เมียที่ตกทุกข์ยาก แล้วชายช่วยไถ่ตัวมา เลี้ยงเป็นเมีย มีฐานะเป็นเมียทาส รองลงมาจากเมียน้อย
โดยกฏมณเฑียรบาลได้กล่าวว่า เมียนาง หรือ เมียพระราชทาน ถือตำแหน่งและฐานะเป็นเมียใหญ่ที่สุดของบรรดาเมียทั้งหมด ห้ามทุบตี ห้ามลงโทษ และห้ามนำไปขาย หรือยกต่อให้ใครเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นถือว่ามีความผิด ต่างจากบรรดาเมียอื่น ๆ ที่สามีสามารถนำเมียหลวง เมียน้อย หรือเมียทาส ไปขายหรือยกให้คนอื่นได้โดยไม่มีความผิด
นอกจากนี้ ต่อให้ชายใดมีเมียหลวงอยู่แล้ว แต่ถ้าได้เมียพระราชทานตามมาทีหลัง แต่เมียพระราชทานก็จะเป็นใหญ่ มีศักดิ์เหนือกว่าเมียหลวงที่มีอยู่เดิม และยังมีการกล่าวถึงเรื่องส่วนแบ่งศักดินาของผู้เป็นผัว ไว้ดังนี้
“เมียพระราชทาน และ เมียหลวง ศักดินาครึ่งศักดินาผัว ส่วนเมียน้อยทั้งปวง ศักดินาครึ่งหนึ่งของเมียหลวง แต่เมียทาส หากมีลูก จึงมีศักดินาเท่าศักดินาเมียน้อย”
ได้มีบทบัญญัติถึงการรับมรดกเมื่อสามีสิ้นชีวิตไว้ด้วยเช่นกัน ดังต่อไปนี้
“เมียพระราชทานได้รับมาดกของสามีมากกว่าเมียประเภทอื่น ๆ คือ
- ภริยาอันทรงพระกรุณาพระราชทานให้ จะต้องได้ทรัพย์ 3 ส่วนกึ่ง
- ภริยาอันสู่ขอ มีขันหมาก บิดามารดายกให้ ได้ทรัพย์ 3 ส่วน
- อนุภรรยา ได้ทรัพย์ 2 ส่วนกึ่ง
- ภริยาทาส ให้ปล่อยเป็นไท
จากดังกล่าว จะเห็นได้ว่า เมียพระราชทาน จะมีความเป็นใหญ่ และได้รับความคุ้มครองทางกฏหมายมากกว่าเมียอื่น ๆ ซึ่งกฏหมายเหล่านั้น ล้วนแต่มาจากพระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้บัญญ้ติตราขึ้น และเป็นสิ่งที่อธิบายความหมายของคำ ใครซื่อ เจ้าเติมนาง คือ การเติมความจงรักภักดีของเหล่าขุนนางที่มีต่อพระมหากษัตริย์ให้เต็ม กล่าวได้ว่า สิ่งนี้เป็นกลอุบายและวิธีการที่แนบเนียนของบุพกษัตริย์ไทยที่ได้ทรงเลือกนำมาใช้ เพื่อเป็นการผูกความซื่อสัตย์ของขุนนางให้แน่นแฟ้น แอบแฝงไปด้วยการวางรากฐานการปกครอง ทางการเมืองให้เป็นปึกแผ่น ดังนั้น เมียนาง จึงมิใช่บำเหน็จหรือรางวัลบำเรอกามแก่ชายใด แต่ เมียพระราชทานมีความสำคัญระดับประเทศเลยทีเดียว