อีกหนึ่งวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนชาวไทยที่มาพร้อมกับฤดูฝน นั่นก็คือ “วันเข้าพรรษา”

โดยปกติ วันเข้าพรรษาจะตรงกับแรม 1 ค่ำ เดือน 8 โดยความสำคัญทางพุทธศาสนาของวันเข้าพรรษา คือ วันที่ภิกษุสงฆ์จะพักประจำอยู่วัดใดวัดหนึ่งตลอดระยะเวลา 3 เดือน โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น ตามพระธรรมวินัยบัญญัติไว้ หรือที่เรียกว่า การจำพรรษา ซึ่งพระสงฆ์ทุกรูปจะต้องยึดถือปฏิบัติตาม ไม่มีข้อยกเว้น 

ประวัติประเพณีหล่อเทียนเข้าพรรษา 

การกำเนิดเทียนพรรษา เนื่องมาจากตลอดช่วง 3 เดือนของการเข้าพรรษา วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี หรือหลังจากวันอาสาฬหบูชา 1 วัน จนสิ้นสุดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นวันออกพรรษา ในสมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้าใช้ มีเพียงการจุดเทียนให้แสงสว่าง ส่วนพระสงฆ์ที่จำพรรษาในวัดจะมีการตามประทีปเพื่อศึกษาธรรม จุดเทียนสวดมนต์ บำเพ็ญเพียร เจริญสมาธิภาวนา พุทธศาสนิกชนจึงพร้อมใจกันหล่อเทียนพรรษา และแห่นำไปถวายพระสงฆ์ เพื่อได้ใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ตลอดช่วงเข้าพรรษา เป็นการสร้างกุศล สร้างทานบารมีอย่างหนึ่ง เพราะเชื่อว่าอานิสงส์การให้ทานด้วยแสงสว่างจะเพิ่มพูนปัญญา มีแสงสว่างนำทางชีวิตอยู่เสมอ 

การหล่อเทียนของชาวพุทธในสมัยก่อน จะใช้รังผึ้งร้างนำไปต้มเพื่อเอาขี้ผึ้ง ก่อนนำไปฟั่นเป็นเทียนเล่มเล็ก ๆ ให้มีความยาวตามที่ต้องการ ซึ่งเทียนพรรษา คือ เทียนที่ใช้จุดในโบสถ์ตั้งแต่วันเข้าพรรษาจนถึงวันออกพรรษา ดังนั้น เทียนพรรษาจึงต้องมีขนาดใหญ่และยาวกว่าเทียนชนิดอื่นเป็นพิเศษ

ขอขอบคุณภาพจาก Winnews TV

โดยแต่เดิมชาวบ้านได้รวบรวมนำเทียนเล่มเล็ก ๆ มามัดรวมกันให้เป็นลำต้นคล้ายกับต้นกล้วยหรือลำไม้ไผ่ ก่อนนำไปติดกับฐานและจัดขบวนแห่เทียนพรรษานำไปถวายวัด จนเป็นประเพณีแห่เทียนพรรษาของชาวพุทธในที่สุด

จนกระทั่งต่อมา ได้มีวิวัฒนาการเทียนพรรษาด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน ใช้วิธีการหล่อเทียนด้วยการนำขี้ผึ้งไปตากแดดหรือนำไปลนไฟให้อ่อน แล้วจึงค่อยนำไปปั้นเป็นรูปดอกลำดวนติดต้นเทียน หรือนำขี้ผึ้งไปต้มให้ละลายแล้วนำผลฟักทองมาแกะเป็นลวดลาย ก่อนจะใช้ไม้เสียบนำไปจุ่มในน้ำขี้ผึ้งแล้วนำไปจุ่มในน้ำเย็นอีกรอบ แกะขี้ผึ้งออกจากแบบ จากนั้นตัดและตกแต่งเป็นลายให้สวยงามก่อนนำไปติดต้นเทียน และได้มีการประยุกต์ลวดลายมาเรื่อย ๆ มีทั้งการแกะสลักลวดลายลงต้นเทียนเป็นรูปต่าง ๆ เป็นรูปลายไทย ดอกไม้นานาพันธ์ หรือ เรื่องราวทางศาสนา

โดยในการจัดขบวนแห่เทียนพรรษามักจะมีการนำของพื้นเมืองมาร่วมในขบวน ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่ง หรือการแสดงพื้นเมือง การแต่งกายด้วยผ้าพื้นเมือง ผ้าซิ่น ชุดมโนราห์ การฟ้อนรำพื้นเมือง เช่น เซิ้งกระติบ เซิ้งสวิง เซิ้งแหย่ไข่มดแดง รำมโนราห์ เป็นต้น โดยจะมีการขับร้องที่สนุกสนานตลอดระยะทางจนถึงวัดที่จะทำการถวายเทียน กลายเป็นกิจกรรมวันเข้าพรรษาสืบมาจนถึงปัจจุบัน