รู้ไหมว่าประเทศไทยมี ธนาคารผิวหนัง สำหรับรักษาผู้ที่ถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือผู้ที่ผิวหนังได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจากอุบัติเหตุต่าง ๆ เพื่อลดความเจ็บปวด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้ด้วยการปลูกถ่ายผิวหนัง

หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่า “ผิวหนัง” เป็นอีกส่วนอวัยวะหนึ่งของร่างกายที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะผิวหนังมีส่วนในการช่วยให้เราสามารถสัมผัสสิ่งต่าง ๆ และเกิดความรู้สึกผ่านผิวหนัง ควบคุมอุณหภูมิร่างกายไม่ให้ร้อนหรือหนาวเกินไป ควบคุมความชื้น การสูญเสียน้ำในร่างกาย และยังช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้โดยตรง จนเกิดอาการเจ็บป่วยอีกด้วย 

แต่เมื่อร่างกายมีแผล ก็จะเปิดโอกาสให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น หรือผิวหนังได้รับความเสียหาย จะส่งผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำ เกลือแร่ เสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรง และลุกลามไปส่วนอื่น ๆ จนเกิดความพิการ และอาจเสียชีวิตในที่สุด 

ส่วนใหญ่สาเหตุความเสียหายของผิวหนัง เกิดจากไฟไหม้ และรองลงมาคือ น้ำร้อนลวก น้ำมันลวก และรวมไปถึงไฟดูด ไฟช็อต หรือการรับรังสีบางชนิด และสัมผัสโดนสารเคมีต่าง ๆ จนทำให้ผิวหนังเกิดความเสียหาย เป็นแผล พุพอง 

แผลผู้ป่วยจากเหตุไฟไหม้ หรือแผลผิวหนังอักเสบที่ได้รับความเสียหาย จะไม่สามารถทำแผลได้ง่าย ๆ เหมือนกับผู้ป่วยประสบอุบัติเหตุอื่น ๆ เพราะแผลในรูปแบบดังกล่าวจะสร้างความเจ็บปวดทรมานแก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก  เพราะบาดแผลจะไม่มีผิวหนังคอยปกป้องสภาพอากาศให้กับร่างกาย เพียงแค่ลมพัดมาโดนบริเวณแผล ก็ปวดแสบ ทุรนทุราย ทรมานมาก ๆ อีกทั้งยังขาดผิวหนังคอยเป็นเกราะป้องกันเชื้อโรคภายนอก ทำให้เชื้อโรคแทรกผ่านเนื้อเยื่อ เข้าโจมตีร่างกายเราได้ง่ายมาก ทำให้ผู้ป่วยไฟไหม้ หรือผู้ป่วยที่มีบาดแผลในลักษณะดังกล่าวมักเสียชีวิตจากการติดเชื้อผ่านผิวหนัง และจากที่ร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่มากเกินไป 

ภาพจาก https://www.thairath.co.th/

การรักษาแผลผู้ป่วยไฟไหม้ก่อนมีการใช้ผิวหนังสำรอง

สมัยก่อน ในการรักษาทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยจากอุบัติเหตุไฟไหม้ แผลน้ำร้อนลวก หรือแผลผิวหนังที่ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง แพทย์จะใช้วิธีการไถผิวหนังบริเวณอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น ถ้ามีแผลด้านหลัง ก็จะไถผิวด้านหน้าแล้วนำมาแปะบริเวณบาดแผลผิวหนัง แล้วทำการล้างแผล พันผ้าก๊อซ ทำแบบนี้ซ้ำ ๆ เป็นเดือน ๆ จนกว่าจะหาย ซึ่งแผลผิวหนังที่ต้องแกะผ้าก๊อซ ผิวหนังที่ลอกติดผ้าระหว่างแกะ เพื่อจะทำการล้างแผลในแต่ละครั้ง สร้างความเจ็บแสบและปวดทรมานแก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก โดยส่วนใหญ่ ผู้ป่วยที่มีแผลขนาดใหญ่หรือแผลกว้างมาก ๆ ต้องวางยาสลบก่อนทำแผล เพราะมักจะทนรับความเจ็บปวดทรมานระหว่างทำแผลไม่ไหว 

จนกระทั่ง สภากาชาดไทยได้มีการจัดทำโครงการ ธนาคารผิวหนัง (Skin bank) เป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยมีระบบการรับบริจาคผิวหนังอย่างครงวงจร ซึ่งข้อดีของการนำผิวหนังจริงมาใช้รักษา คือ ช่วยลดอาการเจ็บปวดและลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ผ่วยได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากแพทย์จะใช้ผิวหนังจริงจากธนาคารผิวหนังมาปะบริเวณแผลของผู้ป่วยแทนผ้าก๊อซ ทำให้ช่วยลดความทรมาน และช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูเร็วขึ้น แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้ว่ามีวิธีการรักษาด้วยวิธีนี้ รวมไปถึงการบริจาคผิวหนังยังไม่เป็นที่รู้กันอย่างแพร่หลายนัก 

ภาพจาก https://www.thairath.co.th/

ความรุนแรงของผิวไหม้มีกี่ระดับ 

ความรุนแรงของอาการไหม้จะส่งผลต่อการรักษาโดยตรง ซึ่งสามารถแบ่งได้ 3 ระดับด้วยกัน ได้แก่

  • ระดับที่ 1 คือ ระดับชั้นหนังกำพร้า ซึ่งร่างกายของเราสามารถทำให้ผิวหนังที่ได้รับความเสียหายหลุดลอกออกได้เป็นปกติ โดยมีการรักษาตามอาการ และสามารถหายได้ในเวลาไม่กี่วัน 
  • ระดับที่ 2 คือ ระดับชั้นหนังแท้ โดยจะมีถุงน้ำขึ้นมาบนผิวหนัง หากได้รับการรักษาเป็นอย่างดี ไม่มีการติดเชื้อ แผลผิวหนังจะสามารถหายได้ภายในระยะเวลา 2 – 3 สัปดาห์ แต่ถ้ามีการติดเชื้อ ก็ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษามากขึ้น  
  • ระดับที่ 3 คือ ระดับที่ผิวหนังมีความเสียหายอย่างรุนแรง ต้องใช้วิธีการปะหรือปลูกถ่ายผิวหนัง ซึ่งจะต้องคอยระวังไม่ให้มีการติดเชื้อ และใช้เวลาในการรักษาจนกว่าผิวหนังบริเวณที่เสียหายจะมีการงอกขึ้นมาใหม่ แต่ถ้าหากบริเวณดังกล่าวได้รับความเสียหายรุนแรง จนเซลล์ผิวหนังไม่สามารถงอกขึ้นใหม่ได้อีก จะเป็นการนำผิวหนังบริเวณอื่นในร่างกายของผู้ป่วยมาปลูกถ่ายใหม่ทดแทน 

กรณีใดที่ต้องใช้ผิวหนังสำรอง 

เนื้อเยื่อมนุษย์หรือผิวหนังสำรอง จะถูกใช้เพื่อทดแทนในส่วนที่เสียหายของผู้ป่วย ในกรณีที่ผิวหนังไหม้ระดับที่ 2 และ 3 ซึ่งจะเป็นกรณีที่เซลล์ผิวหนังไม่สามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ จนต้องมีการนำผิวหนังส่วนอื่นของผู้ป่วยมาปลูกถ่ายใหม่ 

โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยมีแผลไฟไหม้เป็นบริเวณกว้างเกิน 50% ผู้ป่วยมีความทุกข์ทรมานจากบาดแผลมากพออยู่แล้ว หากต้องตัดผิวหนังบริเวณอื่นในร่างกายผู้ป่วยเพิ่มอีก จะยิ่งเพิ่มความทรมานใหักับผู้ป่วยจนเกินจะรับไหว จึงต้องมีการใช้ผิวหนังสำรอง แม้ว่าจะไม่สามารถใช้ในการปลูกถ่ายแทนได้ เพราะร่างกายจะไม่ยอมรับ และไม่สามารถผสานเป็นเนื้อเดียวกันได้ แต่สามารถใช้ในการปะแผลผิวหนัง ช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เพราะผิวหนังสำรองเปรียบเสมือนเป็นวัสดุปิดแผลชั้นดี มีอายุใช้งานได้ประมาณ 7 – 10 วัน จึงจะแกะเปลี่ยนผิวหนังรอบใหม่ ช่วยลดความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วยได้ช่วงหนึ่ง ไม่ต้องทำความสะอาดแผลระหว่างนี้ ช่วยให้ร่างกายไม่ต้องสูญเสียโปรตีน แร่ธาตุ และน้ำเหลืองออกจากร่างกาย ลดอาการอักเสบ ตัวบวม สามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้มากขึ้น

ภาพจาก https://www.thairath.co.th/

ผิวหนังสำรองอันตรายไหม และบริจาคผิวหนังได้ที่ไหน 

ผิวหนังสำรองหรือผิวหนังที่เตรียมใช้ปลูกถ่ายดังกล่าว เป็นผิวหนังแท้ที่ตายแล้ว โดยส่วนใหญ่เก็บมาจากคนที่สมองตาย และได้มีการบริจาคอวัยวะไว้แล้ว ซึ่งมีการผ่านการฆ่าเชื้อ โดยการนำแช่ผิวหนังในน้ำยาฆ่าเชื้อมาแล้วเป็นอย่างดีและเป็นน้ำยาที่สามารถฆ่าเชื้อ HIV ได้ จึงสามารถใช้ปลูกถ่ายข้ามกรุ๊ปเลือดได้อย่างปลอดภัยหายห่วง 

วิธีการบริจาค 

การบริจาคผิวหนัง จะอยู่รวมกับการบริจาคอวัยวะ ที่สามารถนำส่วนใดในร่างกายที่ยังมีประโยชน์ต่อการนำไปปลูกถ่าย หรือใช้กับผู้ป่วยอื่น ๆ ได้ เช่น ตับ หัวใจ ไต รวมถึงผิวหนัง ซึ่งจะต่างจากกรณี บริจาคร่างกาย โดยมีวัตถุประสงค์คือการนำร่างกายไปใช้เพื่อศึกษาทางการแพทย์เท่านั้น สามารถบริจาคผ่าน

ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย หรือติดต่อขอใช้บริการผิวหนังแท้สำรอง สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ 1666