คัดจมูก แสบโพรงจมูก มีน้ำมูก เหมือนเป็นหวัด แต่อาจไม่ใช่แค่หวัดธรรมดา ยิ่งป่วยง่าย มีน้ำมูกบ่อย อาจเป็นอาการไซนัสอักเสบได้เช่นกัน วันนี้มาชวนเช็คอาการที่เป็นอยู่กันหน่อย ว่าเป็นแค่หวัดธรรมดาหรือไซนัสกันแน่ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ รักษาไม่ถูกวิธี ย่อมเสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรงได้ 

ไซนัสคืออะไร 

ไซนัส (Sinuses) หมายถึง บริเวณโพรงอากาศที่อยู่รอบ ๆ โพรงจมูกทั้งด้านซ้ายและขวา ซี่งปกติโพรงไซนัสของคนเราจะมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 4 แห่ง คือ  บริเวณระหว่างดวงตา , บริเวณหน้าผาก , บริเวณแก้ม และ บริเวณในสุดของรูจมูกและใต้ฐานกะโหลก โดยในแต่ละโพรงอากาศจะมี 1 รู เพื่อระบายอากาศเข้าสู่โพรงจมูก 

ไซนัสอักเสบคืออะไร 

ไซนัสอักเสบ คือ การที่เยื่อบุโพรงจมูกและไซนัสมีการติดเชื้อ โดยสามารถแบ่งประเภทจากระยะเวลาของอาการ ดังนี้ 

1. ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน คือ มีอาการไซนัสอักเสบไม่เกิน 4 สัปดาห์ ซึ่งเกิดจาก 

  • เชื้อไวรัส ผู้ป่วยจะมักจะมีอาการไม่เกิน 10 วัน และสามารถหายได้เอง 
  • เชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยมักมีอาการหวัดหรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนมากกว่า 10 วัน หรือ อาจมีอาการดีขึ้นแล้วกลับแย่ลง 

2. ไซนัสอักเสบชนิดกึ่งเฉียบพลัน คือ มีอาการไซนัสอักเสบตั้งแต่ 4 – 12 สัปดาห์ 

3. ไซนัสอักเสบเรื้อรัง คือ มีอาการไซนัสอักเสบตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และอาจมีอาการไซนัสอักเสบเฉียบพลันแทรกเป็นระยะ ๆ ได้ 

ไซนัสอักเสบมีอาการอย่างไร 

อาการไซนัสอักเสบ มักจะมีอาการคัดแน่นจมูก มีน้ำมูกไหลทางรูจมูกด้านหน้า หรือ อาจมีน้ำมูกไหลลงคอ มีอาการปวดแน่นใบหน้า มีการอุดตันภายในโพรงจมูก เนื้อเยื่อบวม หรือมีริดสีดวงจมูก บางรายอาจสูญเสียการรับกลิ่น หรือมีน้ำหนองไหล

ภาวะแทรกซ้อนจากไซนัสอักเสบ

  • ทางตา โดยมีอาการที่น่าสงสัย คือ เจ็บตา กลอกตาแล้วเจ็บ มองเห็นภาพไม่ชัด หรือมองเห็นภาพซ้อน เป็นต้น 
  • ทางสมอง โดยมีอาการที่น่าสงสัย คือ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน มองเห็นภาพไม่ชัด เห็นภาพซ้อน กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีไข้สูง เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดไซนัสอักเสบ ได้แก่ ไข้หวัด ภูมิแพ้ เยื่อบุโพรงจมูกบวม โรคกรดไหลย้อน หรือ พฤติกรรมที่กระตุ้นให้เกิดการบวมของเยื่อบุโพรงจมูก เช่น อุณหภูมิเปลี่ยนฉับพลัน ระคายเคืองจากอากาศแห้งและหนาวเย็น หรือ สัมผัสความเย็นเป็นเวลานาน 

วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นไซนัสอักเสบ 

  • พักผ่อนให้เพียงพอ 
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกายให้เหมาะสมและสม่ำเสมอ 
  • หลีกเลี่ยงสถานที่มีอุณหภูมิเปลี่ยนฉับพลัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น 
  • ตรวจสอบอาการตัวเองสม่ำเสมอ หากไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์ หู คอ จมูก