สถานการณ์การแพร่กระจายของ “ปลาหมอคางดำ” ในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อระบบนิเวศและการประกอบอาชีพของชาวประมง

วันนี้ My Manly Blog ขอพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ “ปลาหมอคางดำ” ว่ามันคือปลาชนิดใด ส่งผลกระทบอะไรต่อเราบ้าง พร้อมเปิดเผยไทม์ไลน์การเข้ามาของปลาชนิดนี้ในประเทศไทย


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ:


ปลาหมอคางดำคืออะไร?

ปลาหมอคางดำ หรือ Blackchin tilapia เป็นปลาที่มีลักษณะคล้ายปลาหมอเทศ มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา แต่ได้ถูกนำเข้ามาในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงอเมริกา ยุโรป และประเทศไทย ซึ่งเริ่มมีการนำเข้ามาในปี 2553

ปลาหมอคางดำมีความสามารถในการปรับตัวสูง สามารถอาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำเค็มและน้ำจืด นอกจากนี้ยังสามารถปรับตัวกับอาหารใหม่ได้ภายในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง และมีความสามารถในการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว โดยสามารถออกลูกได้ทุก 22 วัน ทำให้จำนวนปลาชนิดนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

การแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของปลาหมอคางดำส่งผลกระทบที่ไม่ดีต่อระบบนิเวศ เนื่องจากปลาชนิดนี้มีนิสัยดุร้ายและต้องการอาหารตลอดเวลา ส่งผลให้ปลาชนิดอื่น ๆ อาจสูญพันธุ์ไป เนื่องจากการแข่งขันด้านอาหารและถิ่นอาศัย

ปลาหมอคางดำ เข้ามาในไทยได้อย่างไร?

จากข้อมูลของสำนักข่าวอิศราและประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าไทม์ไลน์ของการนำเข้าปลาหมอคางดำมีดังนี้

ปี 2549: คณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) อนุญาตให้บริษัทหนึ่ง นำเข้าปลาหมอสีคางดำจากประเทศกานา ทวีปแอฟริกา เพื่อปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิล

ปี 2553: บริษัทนั้นนำเข้าปลาหมอสีคางดำจำนวน 2,000 ตัว แต่ปลาทั้งหมดตายเกือบหมดภายใน 3 สัปดาห์ บริษัทจึงทำลายและฝังซากปลา โดยโรยด้วยปูนขาวและแจ้งกรมประมงทราบ

ปี 2555: เกษตรกรในตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม พบการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำในบ่อเลี้ยงกุ้งและบ่อป่ากว่า 1,000 ไร่ และแพร่กระจายไปยังพื้นที่ใกล้เคียง

มีนาคม 2561: มีการประกาศห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยงปลาหมอสีคางดำ ปลาหมอมายัน และปลาหมอบัตเตอร์ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง ผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษทางกฎหมาย จำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สถานการณ์ปลาหมอคางดำในไทย ในปี 2567

ปัจจุบัน ปลาหมอคางดำได้แพร่กระจายอยู่ในแหล่งน้ำหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคใต้ เช่น จังหวัดสงขลาและนครศรีธรรมราช มีการแชร์วิดีโอและภาพของฝูงปลาหมอคางดำในสื่อโซเชียลอย่างต่อเนื่อง ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐต้องเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ล่าสุด สำนักงานประมงจังหวัดสงขลาได้ประกาศผ่านเฟซบุ๊ก เรียกร้องให้ชาวบ้านช่วยจับปลาหมอคางดำ เนื่องจากเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นที่สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร หากพบเห็นปลาชนิดนี้สามารถติดต่อสำนักงานประมงจังหวัดสงขลา หรือสำนักงานประมงอำเภอใกล้บ้าน โทร. 0-7431-1302

สรุป

ปลาหมอคางดำเป็นปลาที่อันตรายต่อระบบนิเวศอย่างมาก เนื่องจากแย่งอาหารและทำให้ปลาท้องถิ่นสูญหาย ดังนั้น การปล่อยปลาหมอคางดำหรือปลาชนิดอื่น ๆ ลงในแหล่งน้ำโดยไม่ศึกษาผลกระทบเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะอาจส่งผลเสียต่อระบบนิเวศในระยะยาว