วันเข้าพรรษาคืออีกวันสำคัญทางศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นวันที่พระภิกษุเริ่มอธิษฐานอยู่ประจำวัด หรือที่แห่งใดแห่งหนึ่ง โดยไม่เดินทางไปค้างแรมที่อื่นตลอดระยะเวลา 3 เดือน ตามข้อบัญญัติในพระธรรมวินัย หรือที่เรามักจะได้ยินคนเรียกกันว่า “จำพรรษา” นั่นเอง
ทำไมถึงต้องห้ามพระสงฆ์เดินทางไปค้างแรมที่อื่นตลอดช่วงเวลา 3 เดือน แล้ววันเข้าพรรษาตรงกับวันอะไร? วันเข้าพรรษาหมายถึงอะไร? ทำไมต้องมีกิจกรรมแห่เทียนพรรษา? เรามีข้อมูลวันเข้าพรรษามาฝากในบทความนี้แล้ว ไปดูความหมายวันเข้าพรรษากันเลยดีกว่า
วันเข้าพรรษาตรงกับวันใด?
วันเข้าพรรษาตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หรือหลังวันอาสาฬหบูชา 1 วัน
Buddhist Lent Day
วันเข้าพรรษา ภาษาอังกฤษ คือ Buddhist Lent Day เพราะในภาษาอังกฤษไม่มีคำว่าเข้าพรรษาที่ตรงตัว แต่ในศาสนาคริสต์จะมีช่วงเวลาที่บาทหลวงจะเริ่มจำศีลก่อนถึงวันอีสเตอร์ เรียกว่า Lent ซึ่งมีกิจกรรมคล้ายกับวันเข้าพรรษา เราจึงสามารถใช้คำว่า Buddhist Lent Day สำหรับภาษาอังกฤษ เพื่อใช้สื่อความหมายถึงวันเข้าพรรษา
วันเข้าพรรษาหยุดไหม?
วันเข้าพรรษาเป็นวันหยุดราชการและวันหยุดธนาคาร แต่บริษัทเอกชนบางสถานที่อาจเป็นวันหยุดพิเศษเช่นกัน
วันเข้าพรรษา ความสำคัญทางศาสนา เกี่ยวข้องกันอย่างไร
จุดประสงค์วันเข้าพรรษา คือ ให้พระภิกษุสงฆ์ประจำอาสนะหรือสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง เป็นระยะเวลา 3 เดือน ที่อยู่ในช่วงฤดูฝน เพื่อป้องกันไม่ให้พระสงฆ์จาริกไปเหยียบย่ำข้าวกล้าในนา หรือกล้าพืชต่างๆ ของชาวบ้านเสียหาย ซึ่งมีที่มาจากในประวัติอันยาวนานตั้งแต่เมื่อสมัยพุทธกาล
วันเข้าพรรษา หลักธรรมที่เกี่ยวข้องคือหลักธรรมใด?
หลักธรรมสำคัญที่เกี่ยวข้องกับวันเข้าพรรษา คือ อธิษฐานบารมี และสัจจะบารมี เพราะภิกษุสงฆ์ต้องอธิษฐานในการปฏิบัติให้ได้ตามสัจจะ ตลอดระยะเวลา 3 เดือน ด้วยปัญญาและความเพียร
ประวัติวันเข้าพรรษา
ในสมัยพุทธกาล พระภิกษุไม่จำเป็นต้องพักอาศัยประจำที่ใดเป็นหลัก มีหน้าที่จาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมแก่ชาวบ้านทั่วไป และเมื่อช่วงฤดูฝนในสมัยนั้น เป็นช่วงที่ชาวบ้านจะหว่านกล้าข้าว และพืชผลต่างๆ และได้มีสงฆ์สาวกออกจาริกโปรดสัตว์ตามปกติ ได้เหยียบย่ำกล้าพืชของชาวบ้านจนเสียหาย จนชาวบ้านต่างเดือดร้อนและกล่าวตำหนิ พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติให้ภิกษุสงฆ์อยู่ประจำที่ใดที่หนึ่ง โดยห้ามจาริกออกจากสถานที่ประจำตลอดช่วงฤดูฝน เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อป้องกันไม่ให้สงฆ์สาวกไปทำความเสียหายให้กับชาวบ้านโดยไม่ได้ตั้งใจ โดยในช่วง 3 เดือนของฤดูฝน ที่ภิกษุสงฆ์ต้องจำพรรษานี้ แบ่งออกเป็น
- ปุริมพรรษา หรือ วันเข้าพรรษาแรก เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองหน (อธิกมาส) ให้เลื่อนเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11
- ปัจฉิมพรรษา หรือ วันเข้าพรรษาหลัง เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12
หากภิกษุสงฆ์มีเหตุสุดวิสัยต้องค้างแรมที่อื่น ผิดวินัยหรือไม่?
ข้อยกเว้นในกรณีที่มีกิจธุระจำเป็น หรือเดินทางไปแล้วไม่สามารถเดินทางกลับได้ในวันเดียวกันนั้น พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ค้างแรมได้ โดยคราวหนึ่งไม่เกิน 7 คืน ซึ่งเรียกว่า “สัตตาหะ” แต่ถ้าหากเกินกำหนดที่ว่านี้ ให้ถือว่า พรรษาขาด เท่ากับภิกษุรูปนั้นไม่ได้จำพรรษา
ข้อยกเว้นที่ภิกษุจำพรรษาที่อื่นได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการขาดพรรษา (เว้นแต่เกิน 7 วัน)
- ภิกษุเดินทางเพื่อไปรักษาพยาบาลตนเอง หรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย
- เดินทางเพื่อไประงับการสึกของภิกษุสามเณรที่ยังมิควรสึก
- การเดินทางไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมแซมกุฏิที่ชำรุด
- มีกิจนิมนต์จากมัคทายกหรือผู้มีจิตศรัทธา ไปฉลองศรัทธาเพื่อการบำเพ็ญกุศลของผู้นิมนต์
- หากภิกษุเดินทางตรงกับวันเข้าพรรษาพอดี และเข้าพักทันในที่ใดที่สามารถพักพิงได้ก็ให้อาศัยพักที่นั้น
ด้วยเหตุที่บางครั้ง มีภิกษุสงฆ์เดินทางตรงกับวันหยุดเข้าพรรษา แต่ไม่ทันในการหยุดพักแรมในสถานที่ใดได้ จึงต้องอาศัยพึ่งโค้นไม้ใหญ่เป็นที่พักแรม เมื่อชาวบ้านเห็นพระสงฆ์ได้รับความลำบาก จึงได้ร่วมมือกันปลูกสร้างเพิง ถวายเป็นที่พักฝนแด่พระสงฆ์ และเมื่อมีสงฆ์พักอาศัยรวมๆกันหลายรูป ที่พักนั้นจึงถูกเรียกว่า “วิหาร” ซึ่งแปลว่า “ที่อยู่สงฆ์” และเมื่อหมดช่วงหน้าฝน พระสงฆ์ก็จะออกจาริกตามกิจของสงฆ์ปกติ และเมื่อถึงหน้าฝนอีกครั้ง ภิกษุสงฆ์ได้จาริกกลับมาพักที่วิหารนี้อีก แต่สำหรับภิกษุรูปบางรูปอาจอยู่ประจำโดยมิได้จาริกไปที่อื่นอีก ก็จะมีผู้ใจบุญที่มีกำลังทรัพย์ ซึ่งอาจเป็นเศรษฐี หรือ ชาวบ้านรวมตัวกันบริจาคเงิน เพื่อสร้างที่พักให้ภิกษุได้อยู่ประจำ ซึ่งอาจเป็นสถานที่ใกล้หมู่บ้าน หรือไม่ไกลจากชุมชนนัก เพื่อความสะดวกที่ชาวบ้านจะได้มาถวายอาหาร และทำบุญกับพระสงฆ์ โดยที่พักนี้ เรียกว่า “อาราม” มาจนถึงปัจจุบัน
ถวายผ้าอาบน้ำฝน วันเข้าพรรษา
เครื่องใช้สอยของพระภิกษุในพุทธกาล มีเพียงอัฐบริขาร อันได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ บาตร รัดประคด มีดโกน เข็ม และ หม้อกรองน้ำ แต่ในสมัยนั้น กว่าพระสงฆ์จะหาที่พักแรมได้ บ้างก็ถูกฝนเปียกปอน ทำให้ท่านต้องทนหนาวเพราะไม่มีผ้าผืนใหม่เปลี่ยน ชาวบ้านเห็นดังนั้น ด้วยจิตศรัทธาจึงได้ทำการถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่พระสงฆ์ เพื่อให้ท่านได้ผลัดเปลี่ยน รวมไปถึงของจำเป็นที่ต้องใช้เป็นพิเศษในวันเข้าพรรษา เช่น เทียน ธูป ่เนื่องจากภิกษุสงฆ์ต้องทำการสวดมนต์เช้า-เย็น จึงได้มีการถวายเทียนเข้าพรรษา และเป็นประเพณีที่สืบต่อก้นมาจนถึงทุกวันนี้
วันเข้าพรรษา ถวายอะไรบ้าง?
นอกจากนี้การทำบุญตักบาตรวันเข้าพรรษา นอกจากจะมีถวายธูป การแห่เทียนพรรษา วันเข้าพรรษายังมีการถวายเครื่องสักการะบูชาและเครื่องใช้ต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับภิกษุสงฆ์ขณะที่ต้องประจำอยู่ที่ใดที่หนึ่งเป็นระยะเวลานานถึง 3 เดือน เช่น สบู่ ยาสีฟัน มีดโกน รวมไปถึงตักบาตรดอกไม้วันเข้าพรรษา เพื่อถวายเป็นสังฆบูชาเป็นต้น
กิจกรรมของวันเข้าพรรษาที่พุทธศาสนิกชนยึดถือปฏิบัติกันมา โดยอาจไปช่วยพระทำความสะอาดบริเวณวัด ซ่อมแซมวิหารกุฏิพระ ฟังเทศน์ ฟังธรรม รักษาอุโบสถศีล ทอดผ้าป่าเข้าพรรษา งดเว้นอบายมุขต่างๆ เช่น งดฆ่าสัตว์ งดดื่มแอลกอฮอล์ และผู้ปกครองบางส่วนก็มักจะจัดพิธีอุปสมบทให้บุตรหลานได้เข้าบวชเรียนจำพรรษา เพราะถือว่าได้รับอานิสงส์อย่างสูง