วันที่ 15 มีนาคม ของทุกปี คือ วันสิทธิผู้บริโภคสากล (World Consumer Right Day) หรือ วันผู้บริโภคสากล ซึงเป็นวันที่จัดขึ้นเพื่อให้ตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงได้รับในฐานะผู้บริโภค
สิทธิผู้บริโภคสากล หมายถึง วันที่ให้ความสำคัญแก่ผู้บริโภคทั่วโลก เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าใจในสิทธิผู้บริโภคคืออะไร และสามารถปกป้องสิทธิในการเข้าถึงในตัวสินค้า รวมถึงบริการที่จำเป็นพื้นฐานในชีวิตได้อย่างทั่วถึง
ประวัติวันสิทธิผู้บริโภคสากล
ใครคือผู้กำหนดสิทธิผู้บริโภคสากล และ สิทธิผู้บริโภคถูกก่อตั้งที่ประเทศใด
สิทธิผู้บริโภคเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1962 โดยอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา “จอห์น เอฟ เคนเนดี” ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งวัน Consumer Right Day หรือ วันสิทธิผู้บริโภคสากล โดยได้รับการรับรองจาก สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล ( Consumers International) ซึ่งมีการกล่าวถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภค อันได้แก่ สิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสาร สิทธิในการได้รับความปลอดภัย สิทธิในการเลือกสินค้าและบริการได้อย่างอิสระ และ สิทธ์ในการได้รับการเยียวยา
สิทธิผู้บริโภคมีกี่ประเภท อะไรบ้าง
สิทธิผู้บริโภคสากลขั้นพื้นฐาน มี 8 ประการ ด้วยกัน ได้แก่
- The right to safety สิทธิได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ รวมทั้งในด้านกรรมวิธีการผลิต ส่วนประกอบ ขั้นตอนการบรรจุ และบริการที่ได้มาตรฐาน
- The right to be informed สิทธิในการได้รับข้อมูลของสินค้าและบริการครบถ้วนและถูกต้อง และได้รับสิทธิคุ้มครองจากโฆษณาหลอกลวง หรือไม่เป็นธรรม
- The right to choose สิทธิในการเลือกซื้อสินค้าและบริการในราคายุติธรรม บนพื้นฐานของสินค้าที่มีคุณภาพ และปลอดภัย
- The right to be heard สิทธิในการแสดงความคิดเห็นในฐานะผู้บริโภค เพื่อให้ได้รับผลประโยชน์ที่พึงได้ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ร่วมกับรัฐบาลในการบริหารและจัดการ
- The right to satisfaction of basic needs สิทธิในการที่จะได้รับสินค้าและบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อชีวิต เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย การศึกษา และด้านการสาธารณสุข
- The right to redress สิทธิของการได้รับการเยียวยา ชดเชย หรือชดใช้ เมื่อได้รับสินค้าหรือบริการที่ไม่ถูกต้องตามข้อตกลงการซื้อขาย หรือได้สินค้าเสียหาย บกพร่อง เช่น ของไม่ตรงปก ของชำรุด
- The right to consumer education สิทธิที่จะได้รับความรู้ เพื่อให้มีความเท่าทันจากผลกระทบที่ได้รับจากการตัดสินใจของผู้บริโภค
- The right to a healthy environment สิทธิที่จะได้อยู่ในสภาพสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิต รวมถึงสิทธิของการได้รับการปกป้องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ผู้บริโภคไม่สามารถควบคุมได้ด้วยตัวเอง
วันสิทธิผู้บริโภคไทย
สิทธิผู้บริโภคของประเทศไทย
สำหรับประเทศไทย รัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภค ฉบับแรก คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 เป็น ฉบับที่ 2 โดยได้บัญญัติสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภคในประเทศไทย มี 5 ประการ ดังนี้
- สิทธิที่จะได้รับข้อมูลของสินค้าและบริการอย่างถูกต้องครบถ้วน รวมถึงสิทธิในการคุ้มครองการถูกหลอกลวง การโฆษณาที่เกินจริง
- สิทธิในการเลือกซื้อสินค้าและบริการได้อย่างอิสระ โดยปราศจากการบังคับโดยไม่เป็นธรรม
- สิทธิในการได้รับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ไม่เป็นอันตราย และมีราคายุติธรรม
- สิทธิในการได้รับความยุติธรรม โดยจะไม่ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการธุรกิจ
- สิทธิในการได้รับการชดเชยความเสียหายที่เกิดจากผู้ประกอบการ เช่น ได้รับสินค้าไม่ตรงปก สินค้าคุณภาพต่ำกว่าราคา ได้รับสินค้าชำรุดเสียหาย เป็นต้น โดยผู้บริโภคจะต้องได้รับการคุ้มครองและได้รับการชดใช้ค่าเสียหาย เมื่อมีการละเมิดสิทธิ์ของผู้บริโภค ตั้งแต่ข้อ 1 – ข้อ 4 ก่อนหน้า