ประเภทของถังดับเพลิงมีให้เลือกหลากหลาย ซึ่งการใช้งานก็แตกต่างกันไป ดังนี้
1. ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง หรือ Dry Chemical สามารถใช้ดับไฟได้เกือบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นไฟไหม้ ประเภท A , B หรือ C แต่ยกเว้น ประเภท K ซึ่งถังดับเพลิงแบบนี้หาซื้อได้ง่าย ราคาถูก แต่ข้อเสียของถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง คือ ใช้ได้เพียงครั้งเดียว เมื่อฉีดดับเพลิงแล้ว แม้ว่าจะใช้ไม่หมด แต่แรงดันจะตกลง ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้อีก ต้องส่งอัดบรรจุทันทีเท่านั้น และลักษณะการฉีดจะออกมาแบบฟุ้งกระจาย
2. ถังดับเพลิงชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)
ถังดับเพลิงชนิดนี้ จะบรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ภายใน สามารถใช้ดับไฟประเภท B และ C เมื่อฉีดใช้งาน จะได้ก๊าซที่เป็นไอเย็นจัดคล้ายกับน้ำแข็งแห้ง ช่วยลดความร้อนของไฟได้ แต่จะไม่ทิ้งคราบสกปรก ตัวถังสีแดง ปลายกระบอกฉีดจะมีลักษณะใหญ่เป็นพิเศษ เหมาะกับการใช้งานในห้องเครื่องจักร ไลน์การผลิต รวมไปถึงอุตสาหกรรมอาหาร
3. ถังดับเพลิงชนิดน้ำยาระเหย
ประเภทถังดับเพลิง น้ำยาเหลวระเหย ถังสีเขียว สำหรับใช้ดับไฟภายใน สามารถใช้ในการดับเพลิงไฟได้ทุกประเภท A , B หรือ C ยกเว้น K สามารถหาซื้อได้ง่าย มีราคาถูกกว่าฮาโรตรอน ไม่ทิ้งคราบสกปรกหลังฉีดใช้งาน และไม่ทำลายอุปกรณ์ไฟฟ้าเสียหาย จึงเหมาะกับพื้นที่หรือบริเวณที่เน้นความสะอาด เช่น สำนักงาน อาคาร โรงพยาบาล
4. ถังดับเพลิงชนิดโฟม
ถังดับเพลิงถังสเตนเลส บรรจุสารเคมีโฟมอยู่ภายใน เมื่อฉีดออกมาจะเป็นฟองโฟมครอบคลุมไฟที่ลุกไหม้ ช่วยดับเพลิงประเภท A และ B แต่จะไม่สามารถดับเพลิงประเภท C ได้ เพราะโฟมอาจกลายเป็นสื่อนำไฟฟ้าแทน เหมาะในการใช้ดับเชื้อเพลิงประเภททินเนอร์ และ สารระเหยติดไฟ จึงเหมาะกับการใช้ในภาคอุตสาหกรรม
5. ถังดับเพลิงชนิดเคมีน้ำ
ถังดับเพลิงชนิดสูตรเคมีน้ำ ซึ่งเป็นสารที่ใช้ทดแทนสารฮาล่อน 1211 ได้ ทำให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถใช้ได้กับทุกประเภทเพลิงไหม้ ทั้ง A ,B ,C และ K ได้ เมื่อฉีดจะไม่เป็นฝุ่นละออง จึงไม่บดบังทัศนวิสัยในขณะใช้งาน ทำให้ปลอดภัยในการใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
วิธีการเลือก Rating ของถังดับเพลิง
การเลือก rating ของถังดับเพลิงขึ้นอยู่กับชนิดของถังดับเพลิง กรณีที่เป็นถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง ควรเลือก Fire Rating ตั้งแต่ 4A5B ขึ้นไป ในขณะที่ถังดับเพลิงชนิดอื่น ๆ ไม่มี Fire Rating ให้เลือก
ข้อควรทำและข้อห้ามทำเมื่อเกิดเพลิงไหม้
ห้ามทำอะไรบ้างเมื่อเกิดเพลิงไหม้
- ห้ามใช้ลิฟท์เด็ดขาด
- เมื่อได้ยินเสียงกริ่งเตือนภัย หรือมีเสียงตะโกนว่า “ไฟไหม้” อย่ารีบเปิดประตูห้อง เพราะอาจทำให้เปลวไฟถาโถมเข้ามาหาตัวเรา และอาจลุกไหม้หรือทำอันตรายกับเราได้ทันทีเมื่อเปิดประตู ดังนั้น ควรใช้มือแตะที่ประตูและลูกบิด หากมีความร้อน ให้ค่อย ๆ เปิดประตูอย่างระมัดระวัง และสังเกตภายนอกห้องก่อนจะออกไป
- อย่าหนีไฟด้วยการกระโดดจากอาคาร โดยเฉพาะการกระโดดจากตึกชั้นสูง ๆ เพราะอาจเสียชีวิตได้
เมื่อเกิดเพลิงไหม้ ควรทำอย่างไร
- ใช้ผ้าชุบน้ำเพื่อป้องกันความร้อนและการสูดดมควันเข้าจมูก
- ให้ก้มตัวลงต่ำหรือหมอบคลาน เพราะอากาศด้านล่างใกล้พื้นมีมากกว่าด้านบน
- หายใจสั้น ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้สูดดมเอาควันเข้าร่างกายมากเกินไป
- หากมีควันที่บันไดและบริเวณทางเดินมาก ให้รีบอพยพไปตามทางบันไดหนีไฟให้เร็วที่สุด
- ควรวางไฟฉายไว้ข้างเตียงเสมอ เพื่อใช้ส่องทางหนีไฟในความมืด
- ถ้าหนีออกไปด้านหน้าไม่ได้ ให้ยืนหลังประตูที่ปิดอยู่ และเปิดหน้าต่างเพื่อไล่ควันและความร้อน
- หากติดอยู่ในห้อง และมีควันมาก ให้หมอบต่ำและรีบไปที่หน้าต่าง เพื่อให้หายใจเอาอากาศบริสุทธิ์ และตะโกนร้องขอความช่วยเหลือ
- หากไม่แน่ใจว่าจะสามารถดับไฟได้หรือไม่ ให้รีบหนีเอาตัวรอดก่อน
- ซ้อมการหนีไฟเป็นประจำ เพื่อให้สมาชิกทุกคนจดจำจนคุ้นเคย และสามารถทำโดยอัตโนมัติเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้