ไฟไหม้ จัดว่าเป็นอุบัติภัยที่ร้ายแรงของทุกอาคาร บ้านเรือน โดยเฉพาะสถานประกอบการ โรงงานและอุตสาหกรรมทุกชนิด เพราะเมื่อไรที่เกิดเหตุไฟไหม้ นอกจากความเสียหายในทรัพย์สินที่มูลค่ามหาศาลแล้ว ชีวิตของพนักงานก็ตกอยู่ในอันตราย และหลายครั้งที่มีพนักงานเสียชีวิตในเพลิงไหม้ เนื่องจากไม่รู้วิธีหรือขั้นตอน รวมไปถึงการขาดสติเพราะตกใจและหวาดกลัว จนไม่สามารถหาทางออก และสำลักควันไฟจนหมดสติและเสียชีวิตในกองเพลิง ดังนั้น การซ้อมหนีไฟจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทุกหน่วยงาน และสถานประกอบการจะต้องมีการซ้อมหนีไฟ หรือซ้อมอพยเมื่อเกิดไฟไหม้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบบริษัท สถานการศึกษา สถานให้การพยาบาล ฯลฯ เพราะไม่มีใครคาดเดาได้ว่า จะเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้เมื่อไร แต่การซ้อมหนีไฟจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตเมื่อเกิดเพลิงไหม้ลงได้ จากความรู้และประสบการณ์ในการซ้อม
โดยปกติแล้ว การซ้อมหนีไฟในองค์กรต่าง ๆ จะต้องมีการซ็อมหนีไฟปีละ 2 ครั้ง เป็นอย่างน้อย บางหน่วยงาน และโรงงานอุตสาหกรรม ไม่เพียงแต่จะมีการซ้อมอพยพหนีไฟเท่านั้น แต่จะมีการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับเพลิงไหม้ การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าขณะเกิดไฟไหม้ การใช้ถังดับเพลิงที่ถูกวิธี และการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพราะหากทุกคนรู้วิธีและสามารถรับมือเมื่อเกิดไฟไหม้ได้อย่างถูกวิธี อาจช่วยระงับความรุนแรงของเพลิงไหม้ไม่ให้ลุกลาม จนสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน
เพลิงไหม้มีกี่ประเภท
ไฟไหม้ เกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน การที่สามารถประเมินต้นเหตุของเพลิงไหม้ได้ จะช่วยให้รู้วิธีระงับเหตุได้เหมาะสม ทำให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ระงับเหตุ และคนอื่น ๆ ในบริเวณนั้น เพราะการดับเพลิงจากสาเหตุของไฟไหม้จะให้ผลที่ต่างกันออกไป
- เพลิงไหม้ประเภท A คือ เพลิงไหม้ที่เกิดจากวัสดุทั่วไป เช่น กระดาษ พลาสติก ยางรถ เศษไม้
- เพลิงไหม้ประเภท B คือ เพลิงไหม้ที่เกิดจากของเหลว เช่น น้ำมัน สารเคมีไวไฟ
- เพลิงไหม้ประเภท C คือ เพลิงไหม้ที่เกิดจากการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า ระบบไฟฟ้าผิดปกติ เช่น ไฟฟ้าลัดวงจร หม้อไฟระเบิด จากการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าไม่ได้มาตรฐาน หรือใช้กระแสไฟเกิน เป็นต้น
- เพลิงไหม้ประเภท D คือ เพลิงไหม้ที่เกิดจากโลหะ เช่น ล้อแม็กรถยนต์
- เพลิงไหม้ประเภท K คือ เพลิงไหม้ที่เกิดจากซากพืช ซากสัตว์ หรือน้ำมันที่ใช้ประกอบอาหาร
ควรมีการจัดอบรมให้ความรู้ระบบดับเพลิงเมื่อใด
องค์กรและสำนักงานที่มีสถานประกอบกิจการอยู่รวมกัน หรือกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป จะต้องมีการซ้อมหนีไฟ และฝึกดับเพลิงอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้ทุกคนในหน่วยงานหรือที่อาศัยอยู่ในอาคารได้รู้วิธีการป้องกัน และสามารถระงับเหตุได้ตามมาตรฐาน และถ้าหากมีการปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนโครงสร้างในบางจุด ที่ส่งผลต่อระบบแผนการระงับเหตุอัคคีภัย เจ้าของอาคารหรือนายจ้างจะต้องมีการแจ้งและจัดอบรมแผนการดับเพลิงให้กับทุกคนในสถานที่นั้น ๆ ใหม่อีกครั้ง เพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจการปรับรูปแบบการอพยพตามโครงสร้างใหม่ของอาคารได้อย่างถูกต้อง โดยไม่เกิดความสับสนเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
การซ้อมหนีไฟจะต้องรู้อะไรบ้าง
- จุดรวมพล
- ป้ายเส้นทางหนีไฟ ป้ายเซฟตี้
- ช่องทางหนีไฟ ทางไปบันไดหนีไฟ
- ข้อปฏิบัติการใช้ช่องทางหนีไฟต่าง ๆ
- ขั้นตอนการหนีไฟ
- วิธีการใช้งานถังดับเพลิง
การซ้อมหนีไฟมีขั้นตอนอย่างไร
- จำลองสถานการณ์เกิดเหตุไฟไหม้ โดยการเปิดกริ่งเตือนภัย
- ทุกคนในอาคารอพยพไปยังจุดรวมพลด้วยช่องทางต่าง ๆ
- สำรวจจำนวนคนในอาคาร
- ฝึกซ้อมการปฐมพยาบาล
ประโยชน์ของการอบรมดับเพลิงมีอะไรบ้าง
- พนักงานหรือผู้อาศัยในอาคารได้รู้และเข้าใจวิธีป้องอัคคีภัย โดยสามารถแยกแยกชนิดของเชื้อเพลิงได้ ทำให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้อุปกรณ์ดับเพลิง การหาช่องทางหนีไฟที่ดีที่สุด เพิ่มความปลอดภัย ลดความสูญเสีย ตามหลักสากล
- ผู้อบรมสามารถประเมินสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม ทำให้อพยพตนเองและผู้อื่นได้อย่างปลอดภัย ไม่ว่าจะตกเป็นผู้ประสบภัยเองหรือพบเห็นเพลิงไหม้ก็ตาม
- ผู้อบรมสามารถใช้อุปกรณ์ดับเพลิงขั้นพื้นฐานได้อย่างถูกต้อง ทำให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ใช้ และสามารถระงับเหตุอัคคีภัยเบื้องต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ