ขนมเบื้อง คือ ขนมไทยโบราณ มีหน้าขนม 2 แบบ ได้แก่ หน้าหวาน และ หน้าเค็ม เป็นขนมในงานพระราชวัง มักจะกำหนดเลี้ยงขนมเบื้องในงานพระราชกุศล สตรีชาววังจะถือโอกาสนี้ ประกวดประชันฝีมือ หญิงใดจีบพลูยาวได้งาม เป็นริ้วได้ละเอียดละออเสมอกัน ทำแผ่นเบื้องได้บาง ละเลงขนมเบื้องได้สวยงาม คือ ยอดหญิง มีคุณสมบัติของกุลสตรี เพียบพร้อมในงานบ้านงานเรือน ดังที่ปรากฏในเรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งได้กล่าวถึงการประชันฝีมือละเลงขนมเบื้องระหว่างนางศรีมาลา และ นางสร้อยฟ้า จนมีสำนวนไทยว่า “อย่าละเลงขนมเบื้องด้วยปาก” หมายถึง อย่าทำงานด้วยปาก โดยจะใช้เอ่ยถึงคนที่ช่างติ ดีแต่พูด หรือตักเตือนคนที่ชอบวิจารณ์ ชอบติแต่ไม่เคยลงมือทำเอง เปรียบเสมือนกับการละเลงขนมเบื้อง ที่ต้องใช้ความประณีต ละเลงแป้งให้เรียบเสมอกัน จึงจะได้ชื่อว่าผู้นั้นมีฝีมือจริง ๆ นั่นเอง
ในเสภาเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน ได้มีการกล่าวถึง การประชันขนมเบื้องระหว่างเมียทั้งสองของพระไวยจนเป็นเหตุให้ต้องบ้านแตก โดยในเนื้อเรื่องดังกล่าว มีดังนี้
หมื่นไวยวรนาถ หรือ พระไวย เดิมชื่อ พลายงาม บุตรชายของขุนแผนและนางพิมพิลาไลย (นางวันทอง) ได้รับเลื่อนตำแหน่งเป็นจมื่น และเรียกว่า หมื่นไวยวรนาถ หรือ พระไวย เมื่อแรกได้หมั้นหมายกับนางศรีมาลา ลูกสาวของพระพิจิตร และต่อมาได้เมียพระราชทาน ซึ่งเป็นพระธิดาของเจ้าเชียงใหม่นามว่า เจ้าสร้อยฟ้า โดยสมเด็จพระพันวษามีดำริให้พระไวยแต่งงานกับนางศรีมาลาและนางสร้อยฟ้าในวันเดียวกัน ได้อยู่กินเป็นผัวหนึ่งเมียสองเรื่อยมา จนกระทั่งมีเหตุต้องให้เกิดการประชันฝีมือละเลงขนมเบื้องในวันหนึ่ง กลายเป็นจุดแตกหัก ความร้าวฉาน และบ้านแตกในที่สุด
วันหนึ่ง พลายชุมพลได้ชวนพระไวยผู้เป็นพี่ชายเล่นหมากรุก และได้เดิมพันกันว่า หากพลายชุมพลแพ้ จะให้พระไวยถอนขนตาของพลายชุมพลทิ้ง แต่ถ้าพระไวยเป็นฝ่ายแพ้ จะให้นางศรีมาลาและนางสร้อยฟ้า ทำขนมเบื้องให้พลายชุมพลกิน จากนั้น พระไวยก็ได้สั่งให้เมียทั้งสองคนของตนทำขนมเบื้องไว้ทันที
ด้วยพื้นเพของนางศรีมาลาเป็นคนพิจิตร อีกทั้งยังเป็นบุตรสาวของเจ้าเมือง จึงได้รับการบ่มเพาะเรื่องกิริยามารยาท และงานบ้านงานเรือนจากผู้เป็นแม่อยู่บ้าง จึงย่อมเป็นธรรมดาที่จะคุ้นเคยกับการเข้าครัวเรือน และคุ้นมือกับขนมเบื้องของทางภาคกลางมากกว่านางสร้อยฟ้า พระธิดาของกษัตริย์เมืองเหนือ ที่นอกจากจะไม่คุ้นเคยกับงานครัว ยังไม่รู้จักมักคุ้นขนมต่างถิ่นอย่างขนมเบื้องเท่าไรนัก จึงทำให้ขนมเบื้องของนางสร้อยฟ้าออกมาหนาเตอะ ในขณะที่ขนมเบื้องของนางศรีมาลามีความบางสวย จัดเรียงใส่จานได้อย่างงดงาม อวดพลายชุมพล เป็นหน้าเป็นตาให้กับพระไวยผู้เป็นผัว
พลายชุมพลแอบหยอกแกมแซวขนมเบื้องของนางสร้อยฟ้าว่าหนายังกับแป้งจี่ ทำให้พระไวยหันไปเอาใจเมียว่าตนชอบขนมเบื้องหนา ๆ เพื่อไม่ให้นางรู้สึกเสียหน้าและน้อยใจ แต่นางทองประศรี ผู้เป็นย่าของพระไวย (แม่ของขุนแผน) เห็นขนมเบื้องที่นางสร้อยฟ้าทำออกมาหนาเตอะ ไม่บางสวยเหมือนของนางศรีมาลา จึงเหยียดหยันว่านางสร้อยฟ้าเป็นลาว จึงไม่แปลกใจที่จะทำขนมเบื้องไทยไม่สวย ทำให้พลายชุมพลหัวเราะซ้ำเข้าไปอีก และเหล่าข้าทาสบริวารก็พลอยขำและยิ้มเยาะตามไปด้วย สร้างความอับอายและเจ็บใจให้กับนางสร้อยมาลาอย่างยิ่ง หนำซ้ำ สาวใช้ประจำตัวของนางสร้อยฟ้าที่พยายามจะแก้ต่างให้นายตนว่า ที่นางศรีมาลาทำขนมเบื้องหนา เพราะคิดว่ากำลังทำขนมครก ยิ่งตอกย้ำให้นางสร้อยฟ้าอับอายมากขึ้น เพราะพลายชุมพลแซวว่าเป็นการแก้ตัวแบบน้ำขุ่น ๆ หรือบางทีนางสร้อยฟ้าอาจลืมตัวนึกว่ากำลังทำห่อหมกอยู่ก็เป็นได้
นางสร้อยฟ้าได้ยินดังนั้น ก็โกรธจนตัวสั่น จึงเทแป้งขนมเบื้องลงพื้น กระจัดกระจายเลอะเทอะเต็มบ้าน นางทองประศรีจึงต่อว่าก่นด่าหลานสะใภ้เมืองเหนืออย่างสาดเสียเทเสียว่าเป็นลาวจัญไร ทำให้นางสร้อยฟ้าหน้าชาและรู้สึกโกรธมาก เข้าไปเก็บตัวอยู่ในห้อง พระไวยจึงสบโอกาสนี้ชวนนางศรีมาลาเข้านอนแต่หัวค่ำ แต่ศรีมาลาเมียรักอิดออด พูดง่าย ๆ ก็คือเล่นตัวอยู่พักนึง อ้างว่าอายคนยังเต็มบ้าน เขายังไม่นอนกันเลย พูดไปพูดมา ก็ได้มีการกล่าวถึงขนมเบื้องในประโยคสุดท้าย โดยมีคำว่าอย่าละเลงขนมเบื้องด้วยปาก ซึ่งนางสร้อยฟ้าได้ยินพอดี จึงเข้าใจว่านางศรีมาลากำลังนินทาตน จึงได้เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง โดยนางสร้อยฟ้าประชดและต่อว่าเชิงน้อยใจว่าตนผิดเองที่เป็นคนต่างถิ่น ไม่เคยทำขนมเบื้องมาก่อน ขนมเบื้องที่ตนทำจึงออกมาไม่สวยถูกใจผัว ผัวจึงไม่รักไม่หลงตนอย่างนางศรีมาลา
หลังจากประชันฝีมือขนมเบื้อง นางสร้อยฟ้ากับนางศรีมาลาก็มีการระหองระแหงอยู่เป็นประจำ ประกอบกับที่นางทองประศรีไม่ชอบใจหลานสะใภ้ที่ได้มาแบบขัดเมียพระราชทานไม่ได้ เป็นทุนเดิม ทำให้นางสร้อยฟ้าต้องแบกรับความกดดันและคำก่นด่าจากครอบครัวของพระไวย อีกทั้งยังพ่ายแพ้ให้แก่นางศรีมาลา ทำให้นางสร้อยฟ้ารู้สึกคับแค้นใจ จึงตัดสินใจทำเสน่ห์มนตร์ดำให้พระไวยรักตนและเกลียดชังนางศรีมาลา และเหตุการณ์ก็เป็นไปตามนั้น จนกระทั่งเวลาผ่านไปได้ระยะหนึ่ง พลายชุมพลจับได้ว่านางสร้อยฟ้าทำเสนห์มนตร์ดำใส่พระไวย นางสร้อยฟ้าได้รับโทษประหารชีวิต แต่ด้วยที่นางกำลังตั้งครรภ์ จึงทำให้มีการเห็นแก่ลูกในท้อง และลดโทษให้นางสร้อยฟ้าด้วยการเนรเทศนางกลับไปเชียงใหม่บ้านเกิดที่จากมา
ไม่น่าเชื่อว่า เพียงแค่การละเลงขนมเบื้อง จะเป็นเชชนวนให้บ้านแตกและเกิดเหตุการณ์ใหญ่โตได้ถึงเพียงนี้ แต่ถ้าพิจารณาตามเนื้อเรื่องในเสภา เห็นได้ว่า การใช้งานคนผิดประเภท ใช้คนไม่ถูกงาน ก็สามารถสร้างความเสียหายได้อย่างมหาศาล เพราะถึงแม้ว่านางสร้อยฟ้าจะละเลงขนมเบื้องจนหนาและไม่มีความสวยงาม แต่นั่นเป็นเพราะนางมาจากต่างถิ่น ไม่มีความคุ้นเคยหรือชำนาญในเรื่องของขนมเบื้อง หากจะให้ทำออกมาดีและสวยงามอย่างนางศรีมาลา ผู้เก่งการงานครัวและคุ้นเคยกับขนมเบื้องดีอยู่แล้ว ก็ย่อมจะเป็นไปได้ยาก แต่กลับกัน ถ้าหากพระไวยให้เมียทั้งสองคนทำขนมอะไรก็ได้ตามใจ นางสร้อยฟ้าอาจได้เผยเสน่ห์ปลายจวัก โชว์ฝีมือขนมท้องถิ่นล้านนาที่นางอาจคุ้นเคยและทำได้ถนัดมือมากกว่า สร้างความมั่นใจให้กับผู้ทำ เกิดความภูมิใจในผลงาน และแม้แต่พระไวยกับพลายชุมพล รวมถึงคนในบ้านก็จะได้ชิมรสชาติขนมพื้นเมืองของชาวเชียงใหม่ เป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ตนอาจไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน อาจทำให้คนในบ้านชื่นชอบในรสมือและชื่นชมนางสร้อยฟ้ามากขึ้น อาจลดอคติของนางทองประศรีที่มีต่อหลานสะใภ้คนนี้ลงได้ จนทำให้บ้านมีความรัก ความเข้าใจกันดี กลมเกลียวกันมากขึ้น ดังนั้น หากจมื่นไวยวรนาถคิดให้รอบคอบ และรู้จักใช้คนให้เหมาะกับงาน ก็จะไม่เกิดเรื่องวุ่นวายจนบ้านแตกเช่นนี้