ประกันสังคมคือ การออมเงินภาคบังคับที่เกิดจากการสนับสนุนของรัฐบาล เพื่อให้คนไทยได้มีหลักประกันในการดำรงชีพ และมีความมั่นคงทั้งต่อตนเองและครอบครัวหลังจากเกษียณงาน ซึ่งที่จริงแล้ว ประกันสังคมไม่ได้มีเพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่มีระบบการทำประกันสังคมทั่วโลก แต่การทำประกันสังคมมันมีผลดีแค่ไหน และเป็นประโยชน์แก่ผู้ทำอย่างไรบ้าง คุ้มหรือไม่กับการทำประกันสังคม เพราะฉะนั้น ใครที่มีประกันสังคมแล้ว และที่ยังไม่มีแต่สนใจ เรามาเช็คสิทธิ์ประกันสังคมกันหน่อยดีกว่า ว่ามีสิทธิ์ประโยชน์อะไรบ้าง

เจ็บป่วย : เบิกได้

เมื่อเกิดการเจ็บไข้ ไม่สบาย สามารถเข้าทำการรักษากับโรงพยาบาลที่ระบุสิทธิ์และเลือกไว้ไว้ในบัตร โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หากเป็นกรณีฉุกเฉินที่ไปโรงพยาบาลนอกสิทธิ์ อาจต้องสำรองจ่ายแล้วเบิกทีหลัง

สำหรับผู้ป่วยใน สามารถเบิกได้ตามจริง แต่จำกัดได้ไม่เกิน 700 บาทสำหรับค่าห้องและค่าอาหาร ที่รักษาในโรงพยาบาลรัฐบาล ส่วนค่าห้องและค่าอาหารที่เข้ารักษากับโรงพยาบาลเอกชน เบิกได้ไม่เกิน 2,000 บาท/ วัน และ ICU 4,500 บาท

แต่ผู้ป่วยกลุ่ม 13 โรค ต่อไปนี้ ไม่มีสิทธิ์ได้รับบริการทางการแพทย์ 

  1. โรคจากการใช้สารเสพติดตามกฏหมายว่าด้วยยาเสพติด
  2. ไตวายเนื้อรัง การบำบัดทดแทนไต ยกเว้น ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ให้สิทธิ์รับบริการทางการแพทย์ โดยการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ,ล้างช่องท้องด้วยน้ำยาแบบถาวร และ ด้วยวิธีการปลูกถ่ายไต ซึ่งจะขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์และเงื่อน ตามอัตราที่กำหนด
  3. ภาวะมีบุตรยาก
  4. การกระทำเพื่อความสวยงาม โดยไม่มีข้อกำหนดหรือข้อบ่งชี้จากทางการแพทย์
  5. การรักษาที่ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาและทำการทดลอง
  6. การตรวจใด ๆ ที่เกินความจำเปฺนต่อการรักษาโรค
  7. การผ่าตัดเปลี่ยนเพศ
  8. การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ
  9. การตรวจเนื้อเยื่อ เพื่อการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ
  10. การผสมเทียม
  11. การบริการระหว่างรักษาตัวเพื่อพักฟื้น
  12. ทันตกรรม ยกเว้น การถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน ผ่าฟันคุด (ซึ่งให้สิทธิ์ผู้ประกันตนได้รับตามความจำเป็น แต่ไม่เกิน 900 บาท / ปี) สำหรับการใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้นั้น มีสิทธิ์ได้รับค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 1,300 – 4,400 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี 
  13. แว่นตา

ทำฟัน : 900 บาท / ปี

ผู้ประกันตนมีสิทธิ์ได้รับบริการทาง ทันตกรรม โดยครอบคลุมในส่วนของการถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และ ผ่าฟันคุด ในงบ 900 บาท / ปี 

ค่าคลอดบุตร : 15,000 บาท / ครั้ง 

ผู้ประกันตนหญิงสามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้ 15,000 บาท / ครั้ง (ไม่จำกัดจำนวนครั้ง) โดยเงินสงเคราะห์จากการลาคลอด เหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของเงินเดือนในระยะเวลา90 วัน (กรณีบุตรคนที่3 เป็นต้นไป จะไม่ได้รับสิทธิเงินสงเคราะห์การหยุดงาน) 

เงื่อนไข : มีการจ่ายเงินสบทบไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนเดือนที่คลอดบุตร

มีบุตร: ช่วยค่าเทอม

ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสบทบมาแล้ว ไม่น้อยกว่า12 เดือน มีบุตรที่ชอบด้วยกฏหมาย จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 800 บาท ตั้งแต่แรกเกิด – 6 ปีบริบูรณ์ (สูงสุด 3 คน / ครั้ง) ยกเว้นบุตรบุญธรรม หรือบุตรที่ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมแก่ผู้อื่น 

ตกงาน : มีเงินให้

สำหรับผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบไปแล้ว 6 เดือน ภายในระยะ 15 เดือน ก่อนว่างงาน ซึ่งว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป โดยไม่ได้ถูกเลิกจ้างอันเนื่องจากสาเหตุการทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจให้นายจ้างได้รับความเสียหาย 

  1. กรณีถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินชดเชย 50% ของเงินเดือน (สูงสุด ไม่เกิน 180 วัน คำนวณจากฐานเงินเดือน 15,000 บาท)

  1. กรณีลาออก หรือ สิ้นสุดสัญญาจ้างงาน จะได้รับเงินชดเชย 30% ของเงินเดือน (สูงสุดไม่เกิน 90 วัน คำนวณจากฐานเงินเดือน 15,000 บาท)

ทุพพลภาพ : มีชดเชย

ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบครบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนเกิดทุพพลภาพ จะได้รับสิทธิ์ค่าชดเชย ดังนี้

  1. กรณีทุพพลภาพไม่รุนแรง จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ตามหลักเกณฑ์ และระยะเวลาตามประกาศฯ กำหนด

  1. กรณีทุพพลภาพรุนแรงจะได้รับเงินชดเชยตลอดชีวิต ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเป็นรายเดือน

เสียชีวิต : ช่วยค่าทำศพ

กรณีผู้ประกันตนเสียชีวิต ได้รับเงินค่าทำศพ 50,000 บาท โดยจ่ายให้กับผู้จัดการศพ และมีเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต ดังนี้

  1. ผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบตั้งแต่ 36-120 เดือน ก่อนเสียชีวิต ทายาทจะได้รับเงินสงเคราะห์ เป็นจำนวนเงินเท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 2 เดือน

  1.  ผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป ก่อนเสียชีวิต ทายาทจะได้รับเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเงินเท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 6 เดือน 

เกษียณ : มีเงินบำเน็จ บำนาญ

กรณีบำนาญชราภาพ 

  1.  ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 180 เดือน (ไม่จำเป็นต้องต่อเนื่องติดต่อกันตลอด180 เดือน) มีอายุครบ 55 ปี บริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง จะได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือน ด้วยอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (ประมาณ 3,000 / เดือน)

  1. ผู้ประกันตนที่จ่ายสมทบเกิน 180 เดือน เมื่อมีอายุครบ 55 ปี บริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง จะได้รับการปรับเพิ่มบำนาญชราภาพอีกร้อยละ 1.5 สำหรับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน ทุก ๆ 12 เดือน ที่จ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือนนั้น 

กรณีบำเหน็จชราภาพ 

บำเหน็จชราภาพ กรณีจ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน มีอายุครบ 55 ปี บริบูรณ์ หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง 

  1. ผู้ประกันตนจ่ายสมทบต่ำกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ

  1. ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือน ขึ้นไป จะได้รับเงินบำเหน็จชราชราภาพเท่สกับจำนวนเงินสมทบ ที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบ และได้รับสอิทธิประโยชน์ตามที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด 

  1. กรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพเสียชีวิตภายใน 60 เดือน นับตั้งแต่ได้สิทธิทำนาญชราภาพ จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่า ของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิต

ประกันสังคมมาตรา 33 , 39 และ 40 ต่างกันอย่างไร

  1. ประกันสังคม มาตรา 33 หรือ ม.33 คือ ผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้างส่งเงินสมทบตามกฏหมายโดยภาคบังคับ

  1. ประกันสังคม มาตรา 39 หรือ ม.39 คือ ผู้ประกันตนโดยสมัครใจ ซึ่งเคยเป็นลูกจ้างแต่ลาออก แต่ยังส่งสมทบประกันสังคมต่อด้วยตนเอง

  1. ประกันสังคม มาตรา 40 หรือ ม.44 คือ ผู้ประกันตนนอกระบบที่ไม่เข้าข่าย ม.33 และม.39 โดยมี 3 ทาง ในการเลือกสมทบเงิน ซึ่งจะไม่เท่ากัน โดยผู้ประกันตนสามารถเลือกได้เอง