เชื่อว่าทุกคนรู้จักกับโรคเบาหวาน แต่อาจยังไม่รู้จักกับ “โรคเบาจืด” หรือมีคนส่วนน้อยที่รู้ว่ามีโรคชนิดนี้ด้วย วันนี้แอดมินจึงจะมาชวนทุกคนรู้จัก โรคเบาจืดคืออะไร จะรู้ได้อย่างไรเรามีอาการโรคเบาจืด และโรคเบาจืดอันตรายไหม  เบาจืด หรือ Diabetes Insipidus คือ โรคที่ร่างกายสูญเสียการควบคุมความสมดุลของน้ำในร่างกาย ส่งผลให้ระบบการทำงานของไตผิดปกติ ทำให้ผู้ป่วยโรคเบาจืดปัสสาวะออกมามากกว่าปกติ 

โรคเบาจืดเกิดจากอะไร 

สาเหตุของโรคเบาจืดอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย แต่ที่พบได้บ่อยที่สุด คือ เกิดความผิดปกติที่สมองส่วนไฮโปธาลามัส หรือ ต่อมใต้สมอง ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อ มีเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง เคยผ่าตัด หรือมีการบาดเจ็บบริเวณต่อมใต้สมอง ส่งผลให้ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก (Antidiuretic Homrmone) ที่ทำหน้าที่ควบคุมระบบปัสสาวะ รวมไปถึงระบบการทำงานของไต ไม่ตอบสนองต่อ Antidiuretic Homrmone หรืออาจเกิดจากผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด จนก่อให้เกิดอาการกระหายน้ำมากผิดปกติ แม้ว่าจะดื่มน้ำเข้าไปแล้วก็ตาม และมีปัสสาวะออกมามากกว่าที่ควรจะเป็น ในผู้ป่วยบางรายอาจปัสสาวะมากถึง 10 – 20 ลิตรเลยทีเดียว 

โรคเบาจืดมีกี่ประเภท 

โรคเบาจืดสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ 

1. Cranial Diabetes Insipidus โรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง เนื่องจากเกิดความเสียหายที่สมองส่วนไฮโปทาลามัส หรือต่อมใต้สมอง ซึ่งเป็นประเภทของโรคเบาจืดที่พบได้บ่อยที่สุด โดยมีเหตุปัจจัยหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น การผ่าตัด มีเนื้องอกในสมอง มีการติดเชื้อที่สมอง หรือมีการบาดเจ็บที่ศีรษะ จนทำให้สมองไฮโปรทาลามัส ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนมาควบคุมการปัสสาวะได้ 

2. Nephrogenic Diabetes Insipidus โรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของไต เนื่องจากไตเกิดความเสียหายจนไม่สามารถตอบสนองต่อฮอร์โมนแอนติไดยูเรติกได้ หรือ อาจเกิดจากผลข้างเคียงของการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาในผู้ป่วยโรคทางจิต อย่าง ลิเทียม เป็นต้น 

3. Dipsogenic Diabetes Insipidus โรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของระบบการควบคุมการกระหายน้ำภายในสมอง 

4. Gestational Diabetes Insipidus โรคเบาจืดในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งเกิดจากฮอร์โมนไม่เสถียร 

โรคเบาจืดอาการเป็นอย่างไร

  1. กระหายน้ำและดื่มน้ำมากผิดปกติ บางรายอาจกระหายน้ำตลอดเวลา แม้ว่าจะดื่มน้ำในปริมาณมากแล้วก็ตาม 
  2. ปัสสาวะบ่อยและมากผิดปกติ โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคเบาจืดมักจะปัสสาวะมากถึง 2 ลิตรขึ้นไปในแต่ละวัน และบางรายอาจปัสสาวะมากเกินกว่า 5 ลิตร และมีมักจะสีปัสสาวะจางมากผิดปกติ 
  3. ปากแห้ง คอแห้ง อ่อนเพลีย จากการสูญเสียน้ำ 
  4. ปวดศีรษะ เวียนหัว หน้ามืด 
  5. กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นตะคริวง่ายและบ่อย 

โรคเบาจืดรักษาอย่างไร 

โรคเบาจืดวิธีการรักษาในทางการแพทย์ จะมีความแตกต่างกันไปตามสาเหตุและการวินิจฉัยของแพทย์ โดยในผู้ป่วยเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติทางสมอง เช่น เป็นเบาจืดเนื่องจากมีเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาเนื้องอก และมีการให้ฮอร์โมนสังเคราะห์เพื่อทดแทนฮอร์โมนแอนติไดยูเรติกที่ผลิตได้ไม่เพียงพอ แต่ถ้าในกรณีผู้ป่วยเบาจืดที่เกิดจากการใช้ยาบางชนิด แพทย์จะสั่งให้หยุดยานั้น และทำการสังเกตุ และวินิจฉัยเพื่อหาวิธีรักษาในขั้นตอนต่อไป