เชื่อว่ามนุษย์งานมักเจอปัญหาสารพัดรูปแบบ และมีหลายสาเหตุที่ทำให้หลายคนต้องลาออกจากงานที่ทำอยู่ และเราก็มักจะได้ยินบ่อย ๆ “อย่าเพิ่งลาออก ถ้ายังไม่มีงานใหม่รองรับ” ซึ่งมันก็สมเหตุสมผล เพราะถ้าเราลาออกทั้งที่ยังไม่มีงานใหม่ให้ทำ ต้องกลายเป็นคนว่างงานทันที ไหนจะค่าใช้จ่าย ภาระหนี้สิน และความรับผิดชอบอื่น ๆ ที่อาจไม่ใช่เราคนเดียวที่เดือดร้อน แต่อาจหมายถึงอีกหลายชีวิตที่เราต้องดูแล 

แต่สถานการณ์และสิ่งที่บีบบังคับของแต่ละคนแตกต่างกันไป บางคนอาจมีเหตุจำเป็น และอาจต้องจำใจต้องลาออกจริง ๆ และไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด การลาออกทั้งที่ยังไม่มีงานใหม่รองรับ ใช่ว่าจะต้องเป็นเรื่องที่ผิด และทุกคนสามารถทำได้ ถ้ามันไม่ไหวที่จะฝืนอีกต่อไป เพราะเชื่อเถอะว่า ไม่มีใครอยากเป็นคนตกงาน กลายเป็นคนไม่มีเงินใช้ แต่ก่อนที่จะลาออก เราอยากให้ลองมาดูความเสี่ยงที่อาจตามมาเสียก่อน จะได้รู้และหาวิธีรับมือ ไม่ให้สถานการณ์หลังจากลาออกนั้นเลวร้ายจนเกินไป 

พลาดโอกาสก้าวหน้าในสถานที่ทำงานเดิม 

หากช่วงที่เราลาออก บริษัทหรือองค์กรมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างงาน ขยายกิจการ หรือมีโปรเจกต์ใหม่ ๆ ที่อาจทำให้เราพลาดตำแหน่ง หน้าที่ หรือผลกำไรที่อาจได้เพิ่มขึ้น หรือแม้แต่การได้โยกย้ายไปทำงานในสาขาใหม่ ตำแหน่งใหม่ที่ดีกว่า หรือพลาดการได้ร่วมโปรเจกต์ใหม่ ๆ ที่อาจเพิ่มประสบการณ์ใหม่ ๆ และองค์ความรู้ใหม่ ๆ รวมไปถึงคอนเนกชันใหม่ ๆ ที่เราอาจได้ในโปรเจกต์ดังกล่าว 

ขาดรายได้ในช่วงว่างงาน 

หากทำงานประจำเพียงงานเดียว ไม่มีงานเสริม หรืองานนอกอื่น ๆ ทำให้มีรายได้เพียงช่องทางเดียวคือจากเงินเดือนของงานประจำที่ทำอยู่ เมื่อลาออก รายได้เพียงช่องทางเดียวที่มีก็ย่อมหายไปด้วย หากไม่มีเงินเก็บสำรอง หลังจากลาออกจากงาน ย่อมมีปัญหาการเงินตามมาแน่นอน 

ความผันผวนของตลาดแรงงาน อาจทำให้หางานยากขึ้น

สถานการณ์ในตลาดแรงงานมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ไม่สามารถเอาแน่เอานอนได้เลย หลายครั้งที่สถานการณ์ผกผันจนส่งผลให้หลาย ๆ บริษัทลดจำนวนพนักงานลง ไม่มีอะไรสามารถการันตีได้ เมื่อเราพร้อมจะกลับไปทำงาน สถานการณ์ตลาดแรงงานโลกในตอนนั้นจะเป็นอย่างไร ตำแหน่งงานที่เราสนใจจะขาดแคลนหรือไม่เป็นที่ต้องการ อาจทำให้หายากขึ้น โดยอาจมีปัจจัยต่าง ๆ เข้ามามีส่วนประกอบ เช่น วิกฤติโรคระบาด เศรษฐกิจล่ม หรือแม้แต่ศักยภาพของระบบ AI ที่อาจเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ เป็นต้น 

มีช่องว่างในเรซูเม่ 

เมื่อลาออกจากงาน ทั้งที่ยังไม่มีงานใหม่รองรับ จะกลายเป็น คนว่างงาน ทันที แม้ว่าเราอาจมีความพร้อมที่จะกลับไปทำงานในอนาคต แต่บริษัทหรือผู้ประกอบการ อาจไม่มั่นใจในประสิทธิภาพ หรือทักษะการทำงานของเราที่ว่างเว้นไปอาจลดลง เพราะทักษะบางอย่าง หากไม่ได้ใช้งานไปนาน ๆ อาจไม่คล่องเช่นเดิม หรือหลงลืมและต้องนำมารื้อฟื้นกันใหม่ จนอาจกลายเป็นจุดอ่อนและนำมาใช้ต่อรองเงินเดือนกับเราได้ เหมือนทำให้เราต้องไปเริ่มต้นใหม่ 

เมื่อรู้ความเสี่ยงที่จะตามมาเช่นนี้แล้ว เราควรเตรียมตัวอย่างไรดี หากจำเป็นต้องลาออกโดยยังไม่มีงานรองรับ 

วางแผนด้านการเงิน 

ก่อนที่จะลาออก ให้คำนวณค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในแต่ละเดือนว่าเท่าไร เงินสำรองที่มีอยู่ตอนนี้สามารถนำมารองรับระหว่างว่างงานได้นานแค่ไหน โดยจะต้องเผื่อเงินในกรณีฉุกเฉินด้วย เช่น ความเจ็บป่วย อุบัติเหตุ หรือเหตุจำเป็นกระทันหัน หรือ ระยะเวลาที่ยังหางานใหม่ไม่ได้มันนานเกินกว่าที่คิดไว้ 

พูดคุยและปรึกษากับครอบครัวหรือคนใกล้ชิด 

หลายคนที่มีภาระ หรือมีครอบครัวที่ต้องดูแล หรืออาศัยอยู่กับพ่อแม่ ก่อนลาออก ให้พูดคุยแบบเปิดใจและตรงไปตรงมากับพวกเขาเหล่านั้น เพื่อทำความเข้าใจตรงกัน ทำไมจึงตัดสินใจลาออก ระยะเวลาที่ว่างงานอาจนานแค่ไหน มีผลกระทบอะไรบ้าง มีแผนรองรับว่าอย่างไรบ้าง เพราะนอกจากจะทำให้พวกเขาได้เข้าใจสถานการณ์และเตรียมพร้อมกับการรับมือแล้ว พวกเขาอาจช่วยแก้ปัญหาให้กับเราได้อย่างไม่น่าเชื่ออีกด้วย  

ลงทะเบียนว่างงาน 

สำหรับผู้ที่มีการจ่ายเงินค่าประกันสังคม 6 เดือน ขึ้นไป (ภายใน 15 เดือน ก่อนว่างงาน) สามารถลงทะเบียนว่างงานเพื่อขอรับสิทธิเงินชดเชยประกันสังคมกับกรมจัดหางานได้ โดยจะต้องลงทะเบียนภายใน 30 วัน หลังจากลาออก และรายงานตัวผ่านทางเว็บไซต์ของกรมจัดหางานทุก ๆ 30 วัน (ไม่เว้นวันหยุด วันเสาร์ – อาทิตย์ ) ในส่วนของเงินชดเชยที่จะได้รับจากการง่างาน กรณีลาออก หรือ สิ้นสุดสัญญาจ้าง จะอยู่ที่ 30% ของเงินเดือนล่าสุด โดยคำนวณจากฐานเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท แต่ถ้าใครที่ได้รับเงินเดือนสูงกว่านั้น จะได้รับเงินชดเชยจำนวน 4,500 บาท และได้รับไม่เกิน 3 เดือน หรือ 90 วัน / ปี 

อย่าลืมว่า การลาออกโดยที่ยังไม่มีงานใหม่รองรับ ไม่ใช่เรื่องผิด แต่จะต้องมีความพร้อมที่จะรับมือกับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจตามมาหลังจากที่ต้องกลายเป็นคนว่างงาน เพื่อให้สามารถดิ้นรนและผ่านพ้นวิกฤติไปได้อย่างไม่ยากลำบากจนเกินไป เพราะทุกคนย่อมมีความจำเป็นที่แตกต่างกัน และทุกการตัดสินใจเป็นสิทธิของเรา